คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7611/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อ ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อมีอายุความ 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 214,455 บาท แลให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 150,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์หรือใช้ราคาแทนจนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 100,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 150,000 บาท และชำระค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2543) จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนจนครบ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 6 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 2,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์ในเวลาก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือไปยังจำเลยที่ 2 เป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระซึ่งมีอายุความเพียง 2 ปี เท่านั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 2 ปี ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อ ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อมีอายุความ 10 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่โต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์เรื่องค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อคำนึงถึงอายุการใช้งานของรถยนต์พิพาทค่าขาดราคาไม่เกิน 50,000 บาท และค่าขาดประโยชน์รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 100,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ 150,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงมีเพียง 150,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ 3,000 บาท.

Share