คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ว. จ้างโจทก์ให้ทำงานในหน่วยวิคตอรี่ของบริษัท อ. โดยโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท ตามสัญญาจ้างงานมีข้อความว่า เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายขอมอบให้โจทก์มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ตามที่เห็นสมควร ทั้งบริษัท อ. ยังคงให้สิทธิแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ที่จะเข้ารับช่วงบริหารงานในหน่วยวิคตอรี่ต่อไปในกรณีที่ ว. ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิคตอรี่ถึงแก่ความตาย ภายหลังจาก ว. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2543 จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว. ได้มีหนังสือขอให้ทางบริษัท อ. จัดสรรเงินเดือนของโจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงเดือนมกราคม 2545 รวม 25 เดือน เป็นเงิน 250,000 บาท และเงินเดือนประจำทุกวันสิ้นเดือน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ แม้ ว. จะถึงแก่ความตาย หน่วยวิคตอรี่ก็ยังคงสามารถดำรงอยู่และบริการลูกค้าของบริษัท อ. ต่อไปได้ มิใช่ว่าต้องยุบไปในทันทีที่ ว. ถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับ ว. จึงหามีสาระสำคัญอยู่ที่ตัว ว. ผู้เป็นนายจ้างไม่ แม้ ว. จะถึงแก่ความตายก็ไม่ระงับสิ้นไป
ตามสัญญาจ้างงานระบุว่า “ข้าพเจ้า ว. ในฐานะนายจ้างยินดีจ่ายเงินสะสมในบัญชีของข้าพเจ้า ให้แก่ พ. (โจทก์) ในฐานะลูกจ้างครึ่งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์ยุบหน่วยวิคตอรี่และหรือเมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมขอมอบให้ พ. มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ตามที่เห็นสมควร” ตามข้อสัญญาดังกล่าว สิทธิของโจทก์ที่จะพึงได้รับเงินสะสมจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวครึ่งหนึ่งก็ต่อเมื่อมีการยุบหน่วยวิคตอรี่แล้วนั่นเอง เมื่อบริษัท อ. สั่งให้ยุบหน่วยวิคตอรี่ลงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป แต่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว. แบ่งเงินฝากของ ว. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 ก่อนที่จะมีการยุบหน่วยวิคตอรี่ขณะที่โจทก์ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยมอบผลประโยชน์เงินสะสมตามสัญญาจ้างงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของนายวิจิตร แจ่มใส ผู้ตาย ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ผู้ตายเป็นตัวแทนขายประกันให้แก่บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ตำแหน่งผู้จัดการหน่วยวิคตอรี่ โดยแยกการบริหารงานการขายมาบริหารเอง เมื่อได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการบริหารก็ให้บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด จ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ตายที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสุรวงศ์ ในการบริหารงานดังกล่าวผู้ตายได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างผู้ตาย ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ เงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนและตกลงจ่ายเงินผลประโยชน์ในบัญชีเงินฝากประจำข้างต้นให้โจทก์อีกครึ่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2543 ผู้ตายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของผู้ตายมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตร จำเลยที่ 4 เป็นภริยาของผู้ตายมีจำเลยที่ 5 และที่ 6 และที่ 7 เป็นบุตร เมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2543 โจทก์ได้ติดตามทวงถามจำเลยทั้งเจ็ดในฐานะทายาทของผู้ตายให้จ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์แทนผู้ตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ยินยอม จำเลยทั้งเจ็ดมีหน้าที่จ่ายเงินเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 รวม 32 เดือน เป็นเงิน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 66,000 บาท และผลประโยชน์จากบัญชีเงินฝากประจำซึ่งมียอดเงินฝาก ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 จำนวน 2,078,646.64 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,039,232.32 บาท พร้อมดอกเบี้ย 415,692.93 บาท ซึ่งยังไม่รวมอีกครึ่งหนึ่งของยอดหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 จนถึงวันปิดบัญชี รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องจ่ายให้โจทก์เป็นเงิน 1,840,925.25 บาท โจทก์ไม่มีทางใดจะบังคับจำเลยทั้งเจ็ดได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดจ่ายเงินรวม 1,840,925.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งเจ็ดปิดบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสุรวงศ์ เลขที่ 125-2-10103-8 ของนายวิจิตร แจ่มใส แล้วนำยอดฝากก่อนและหลังจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 มาแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ดให้โจทก์มีอำนาจปิดบัญชีนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทันที ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะยุบหน่วยวิคตอรี่หรือปิดบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันจ่ายเงินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังปิดบัญชีตามข้อ 2 ถึงวันยุบหน่วยวิคตอรี่ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของผลประโยชน์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังกล่าว หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระตามข้อ 3 และ 4 ให้จำเลยทั้งเจ็ดเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดที่ค้างชำระแต่ละยอด นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้พิทักษ์ นายวิจิตร แจ่มใส เป็นตัวแทนขายประกันชีวิตให้แก่บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยวิคตอรี่แยกบริหารงานการขายประกันออกจากบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เมื่อนายวิจิตร แจ่มใส ถึงแก่ความตายในวันที่ 14 มกราคม 2543 สัญญาจ้างโจทก์ย่อมระงับ ทั้งตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โจทก์มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายวิจิตร แจ่มใส จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้โจทก์รวม 32 เดือน รวมเป็นเงิน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 66,000 บาท ตามฟ้อง ส่วนเงินผลประโยชน์ตามบัญชีเงินฝากประจำครึ่งหนึ่งไม่ใช่เป็นเงินที่มีลักษณะเป็นค่าตอบแทนในการทำงานหรือเป็นสินจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ขาดนัด
จำเลยที่ 6 แถลงไม่ประสงค์ยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินเดือนค้าจ่ายจำนวน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 66,000 บาท เงินผลประโยชน์ค้างจ่าย 1,039,232.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 415,692.93 บาท รวมเป็นเงินค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยทั้งสิ้นจำนวน 1,840,925.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งเจ็ดนำเงินในบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 125-10103-8 สาขาสุรวงศ์ ของนายวิจิตร แจ่มใส จำนวนครึ่งหนึ่งของยอดเงินฝากก่อนและหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 มาแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ดกับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท และเงินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจำนวนครึ่งหนึ่งจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะยุบหน่วยวิคตอรี่ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545) หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระเงินเดือนตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 กับเงินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก่อนวันยุบหน่วยวิคตอรี่ ก็ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดเงินที่ค้างชำระแต่ละยอด นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย คำขอนอกเหนือจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับนายวิจิตร แจ่มใส ผู้เป็นนายจ้างมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวนายวิจิตรย่อมระงับสิ้นไปด้วยความตายแห่งนายวิจิตรนายจ้างหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายวิจิตรจ้างโจทก์ทำงานในหน่วยวิคตอรี่ บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ. 1 จ. 2 และ จ. 4 โดยโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท ตามสัญญาจ้างแรงงาน เอกสารหมาย จ. 1 ข้อ 2 มีข้อความว่า เมื่อนายวิจิตรถึงแก่ความตายขอมอบให้โจทก์มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ตามที่เห็นสมควร ทั้งบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ยังคงให้สิทธิแก่ทายาทโดยธรรมของนายวิจิตรที่จะเข้ารับช่วงบริหารงานในหน่วยวิคตอรี่ต่อไปในกรณีที่นายวิจิตรซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิคตอรี่ถึงแก่ความตาย ภายหลังจากนายวิจิตรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2543 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 (ที่ถูกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7) ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายวิจิตรได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ. 11 ขอให้ทางบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด จัดสรรเงินเดือนของโจทก์ผู้ช่วยบริหารงานหน่วยวิคตอรี่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงเดือนมกราคม 2545 รวม 25 เดือน เป็นเงินจำนวน 250,000 บาท และเงินเดือนประจำทุกวันสิ้นเดือนจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้นายวิจิตรจะถึงแก่ความตาย หน่วยวิคตอรี่ก็ยังคงสามารถดำรงอยู่และบริการลูกค้าของบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ต่อไปได้ หาใช่ว่าหน่วยงานนี้ต้องยุบไปในทันทีที่นายวิจิตรถึงแก่ความตายแต่อย่างใดไม่ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับนายวิจิตรจึงหามีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวนายวิจิตรผู้เป็นนายจ้างไม่ แม้นายวิจิตรจะถึงแก่ความตายสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวก็ไม่ระงับสิ้นไปด้วยความตายแห่งนายวิจิตรผู้เป็นนายจ้าง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อต่อไปซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้รับไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดมอบผลประโยชน์เงินสะสมตามสัญญาจ้างงาน เอกสารหมาย จ. 1 ข้อ 2 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย จ. 1 ข้อ 2 ระบุว่า “ข้าพเจ้า (นายวิจิตร) ในฐานะนายจ้างยินดีจ่ายเงินสะสมในบัญชีของข้าพเจ้า บัญชีฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสุรวงศ์ บัญชีเลขที่ 125-2-10103-8 ให้แก่นางพิศมัย มูรพันธุ์ (โจทก์) ในฐานะลูกจ้างครึ่งหนึ่ง (50%) เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์ยุบหน่วยวิคตอรี่และหรือเมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมขอมอบให้นางสาวพิศมัย มูรพันธุ์ มีสิทธิยุบหน่วยวิคตอรี่ตามที่เห็นสมควร” ตามข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สิทธิของโจทก์ที่จะพึงได้รับเงินสะสมจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวของนายวิจิตรครึ่งหนึ่งก็ต่อเมื่อมีการยุบหน่วยวิคตอรี่แล้วนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของศาลแรงงานกลางว่าบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด สั่งให้ยุบหน่วยวิคตอรี่ ลงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย ลต. 1 แต่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งหมดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายวิจิตรแบ่งเงินฝากของนายวิจิตรตามบัญชีเงินฝากท้ายคำฟ้องเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการยุบหน่วยวิคตอรี่ ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดมอบผลประโยชน์เงินสะสมตามสัญญาจ้างงาน เอกสารหมาย จ. 1 ข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจำนวนครึ่งหนึ่งจากบัญชีเงินฝากประจำของนายวิจิตร แจ่มใส ตามคำฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง และเนื่องจากคำพิพากษานี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษานี้มีผลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดปิดบัญชีเงินฝากของนายวิจิตรตามฟ้องแล้วนำมาแบ่งจ่ายให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share