คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายว่า โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้มีประกันภัยได้นำรถยนต์ซึ่งเอาประกันภัยไว้ไปประสบอุบัติเหตุจนได้รับอันตรายสาหัส ระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารผิดปกติมีอาการปวดท้องเป็นบางครั้งและไม่หาย เรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงจนไม่อาจทำงานหนักที่โจทก์ที่ 2 ต้องทำเป็นประจำได้ บาดแผลภายในเกิดการอักเสบ โจทก์ที่ 2 ถูกตัดลำไส้บางส่วนออกไปประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ทุพพลภาพถาวร ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีประกันภัยคือ โจทก์ที่ 2 ผู้ได้รับอุบัติเหตุทุพพลภาพถาวรในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงขอใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนดังกล่าวตามสัญญาในฐานะคู่สัญญาและในฐานะผู้รับประโยชน์ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บอย่างไรและมีอาการอย่างไร คำฟ้องโดยหลักเป็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ผู้มีประกันภัยทุพพลภาพถาวรนั้น เป็นความคิดเห็นของโจทก์ทั้งสองถึงลักษณะของบาดแผล อาการบาดเจ็บและผลที่เกิดขึ้น เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ทุพพลภาพถาวร แต่เป็นเรื่องทุพพลภาพชั่วคราว ศาลมีอำนาจพิพากษาได้เพราะคำฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายครอบคลุมถึงอยู่แล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยเหตุโจทก์ทุพพลภาพชั่วคราวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
สัญญาประกันภัยคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 4 ข้อ ข้อ 1 เสียชีวิต ข้อ 2 สูญเสียมือ เท้า สายตา ข้อ 3 ทุพพลภาพถาวร ข้อ 4 ทุพพลภาพชั่วคราว จำนวนเงินเอาประกันภัยต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 บาท ไม่มีข้อสัญญาข้อใดระบุยกเว้นไว้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดกรณีทุพพลภาพชั่วคราว จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยเหตุโจทก์ที่ 2 ทุพพลภาพชั่วคราวเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2542 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้มีประกันภัยได้นำรถยนต์ซึ่งเอาประกันภัยไว้ ไปประสบอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของนายศรัญยู จนโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและที่บ้านประมาณ 3 เดือน หลังจากโจทก์ที่ 2 รักษาตัว ปรากฏว่าระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารผิดปกติ มีอาการปวดท้องเป็นบางครั้งและไม่หาย เรี่ยวแรงลดน้อยถอยลง จนไม่อาจทำงานหนักที่โจทก์ที่ 2 ต้องทำเป็นประจำได้ บาดแผลภายในเกิดการอักเสบ การที่โจทก์ที่ 2 ถูกตัดลำไส้บางส่วนออกไปประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ทุพพลภาพถาวร ซึ่งตาม ร.ย. 4 (ที่ถูก ร.ย. 4.1) เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ผู้มีประกันภัยคือ โจทก์ที่ 2 ผู้ได้รับอุบัติเหตุทุพพลภาพถาวรในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงขอใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนดังกล่าวตามสัญญาในฐานะคู่สัญญาและในฐานะผู้รับประโยชน์ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาบอกกล่าวไปยังจำเลยแล้ว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 ตามหนังสือบอกกล่าวท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 และ 7 โจทก์ทั้งสองจึงขอใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยบรรยายให้เห็นว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บอย่างไร และมีอาการอย่างไร โดยเฉพาะในตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนตามสัญญาในฐานะคู่สัญญาและผู้รับประโยชน์ โดยก่อนฟ้องได้มีหนังสือบอกกล่าวแล้ว ซึ่งเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีหนังสือให้จำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาตามจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้ 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน คำฟ้องของโจทก์โดยหลักใหญ่จึงเป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า “จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ผู้มีประกันภัยทุพพลภาพถาวร” นั้น เป็นความคิดเห็นของโจทก์ทั้งสองถึงลักษณะของบาดแผล อาการบาดเจ็บและผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อศาลเห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ทุพพลภาพถาวรตามสัญญาคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตาม ร.ย. 4.1 ข้อ 3 แต่เป็นเรื่องทุพพลภาพชั่วคราวตามสัญญาคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตาม ร.ย. 4.1 ข้อ 4 ศาลก็มีอำนาจพิพากษาได้ เพราะคำฟ้องโจทก์ทั้งสองได้บรรยายครอบคลุมถึงอยู่แล้ว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยเหตุโจทก์ที่ 2 ทุพพลภาพชั่วคราว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดใช้เงินให้แก่ผู้มีประกันภัยในกรณีทุพพลภาพชั่วคราวตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประกันภัยมีการคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้ด้วย ตาม ร.ย. 4.1 โดยค่าสินไหมทดแทนจะต้องจ่ายให้แก่ผู้มีประกันภัยเท่านั้น และการคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลแบ่งออกเป็น 4 ข้อ ข้อ 1 เสียชีวิต ข้อ 2 สูญเสียมือ เท้า สายตา ข้อ 3 ทุพพลภาพถาวร และข้อ 4 ทุพพลภาพชั่วคราว จำนวนเงินเอาประกันภัยต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 บาท ไม่มีข้อสัญญาข้อใดระบุยกเว้นไว้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดกรณีทุพพลภาพชั่วคราวแต่อย่างใด แม้แต่นายพชรพลผู้รับมอบอำนาจช่วงจำเลยยังเบิกความยอมรับว่า ตามสัญญาประกันภัยมีการคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลด้วย ตาม ร.ย. 4.1 ถ้าความบาดเจ็บทำให้ผู้มีประกันภัยตกเป็นผู้ทุพพลภาพชั่วคราวภายใน 180 วัน นับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ทางบริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ตามระยะเวลาที่รักษาตัว จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ตามสัญญาประกันภัยท้ายคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องรับผิดใช้เงินในกรณีทุพพลภาพชั่วคราว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.

Share