คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชี เป็นเพียงตกลงกันว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งในสัญญา เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชีไม่แน่นอนย่อมขึ้นลงได้ตามประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ที่จะตกเป็นโมฆะไปทั้งหมด และโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้และประทับตราจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญ กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาน่าน ประกาศให้เรียกเก็บแก่ลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชี เท่ากับอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นรายเดือนตลอดไปจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จสิ้น มีกำหนดชำระหนี้คืนแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 กันยายน 2537 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้แก่โจทก์ โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญา ยังคงค้างชำระต้นเงินจำนวน 540,204 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 979,120 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 540,204 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยทั้งสี่เคยเป็นหนี้โจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,350,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 283,111.34 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 911,907.74 บาท กำหนดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 กันยายน 2537 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยชำระต้นเงินให้โจทก์แล้วจำนวน 628,796 บาท โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 31 มีนาคม 2541 คงเหลือ 283,101.74 บาท มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงใด เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเงินเกินบัญชี โดยจะชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนจนกว่าจะได้ชำระเงินเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ตามข้อตกลงดังกล่าวเพียงแต่ตกลงกันว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งในสัญญาว่าอัตราเท่าไร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีไม่แน่นอนย่อมขึ้นลงได้ตามประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด กรณีเช่นนี้จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ศาลจะกำหนดให้มากหรือน้อยกว่านี้ไม่ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงิน 911,907.74 บาท ที่กู้ยืมและรับไปนับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ที่จะตกเป็นโมฆะไปทั้งหมด และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 31 มีนาคม 2541 แล้วไม่ชำระอีกเลย จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผิดนัด และศาลชั้นต้นให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันดังกล่าวเช่นกัน ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share