คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7711/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จึงเท่ากับยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ความผิดฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดฐานนี้อีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด จึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย แม้จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ ก็ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3839/2545, 3840/2545 และ 3841/2545 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 265, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 4, 6 จัตวา, 14 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 137, 264, 265, 267 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแจ้งความเท็จและฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ อันเป็นกฎหมายหลายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี นับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3841/2545 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 543/2546 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 264 (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 264), 265 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน ยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จึงเท่ากับยกฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดฐานนี้อีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย แม้จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ ก็ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 265 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารราชการซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share