คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4161/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของ คณะปฏิวัติฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2515 เป็นบทบัญญัติ จำกัดอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการซึ่งมีอยู่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 ในอันที่ จะกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรให้นายประกันชดใช้เมื่อ มีการผิดสัญญาประกัน ในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยให้พนักงานสอบสวนหรือ พนักงานอัยการกำหนดจำนวนเงินที่นายประกันจะต้องชดใช้เมื่อมี การผิดสัญญาประกันเพียงไม่เกินจำนวนเงินตามเช็ค ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้สั่งปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดให้นายประกันใช้เงิน 600,000 บาท เมื่อมีการผิดสัญญาประกันซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็คซึ่งมีเพียง 500,000 บาท เป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจของพนักงานสอบสวนจึงใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ คือเท่าจำนวนเงินในเช็ค มิใช่ตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด เพราะสัญญาประกันดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายแต่อย่างใด ตามหนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุว่า มอบให้จำเลยที่ 1เป็นผู้มีอำนาจจัดการประกันตัวผู้ต้องหา โดยนำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นประกันและให้จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่าง ๆแก่เจ้าหน้าที่แทนด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะเข้าทำสัญญาประกันในนามตนเอง มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่ในการตีความแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 เดิม แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาขอประกันตัวผู้ต้องหาแทนจำเลยที่ 2ตามที่ได้รับมอบอำนาจมา หาได้กระทำการเป็นส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ต้องหารายนี้จะต้องมีหลักประกัน และจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญาประกันโดยมอบหลักประกันของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ยึดถือไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะขอประกันเป็นการส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกันย่อมถือได้ว่าสัญญาประกันรายนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนหาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องได้ แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินตามสัญญาจำนวน 600,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22มีนาคม 2526 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 43,150.70 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันนายสุเทนมิ่งขวัญ ผู้ต้องหา ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2มิได้เป็นผู้ประกันผู้ต้องหาร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผูกพันเกี่ยวข้องเป็นส่วนตัวที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หากผู้ต้องหาหลบหนีหรือจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 โจทก์กำหนดราคาค่าประกันสูงกว่าจำนวนเงิน 500,000 บาท ตามเช็คที่ผู้ต้องหาออกมิชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 196 จึงบังคับไม่ได้ ค่าปรับไม่ควรเกิน50,000 บาท และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในมูลหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาประกัน เพราะได้มอบตัวผู้ต้องหาให้แล้วจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือจากโจทก์ให้ส่งตัวผู้ต้องหาหรือชำระค่าปรับ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ทำสัญญาประกันตัวนายสุเทน มิ่งขวัญ ผู้ต้องหาไปจากโจทก์ฝ่ายโจทก์กับจำเลยที่ 1 นายสุเทน และผู้มีชื่อได้ร่วมกันหลอกลวงจำเลยที่ 2 ว่า ภริยาของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานอยู่ที่เดียวกันกับจำเลยที่ 1 ถูกจับฐานเล่นการพนัน จำเลยที่ 1ขอยืมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ไปประกันตัวภริยาของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวมีระยะเวลา 1 เดือน แล้วจะนำมาคืน โดยให้จำเลยที่ 2และสามีลงนามในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการเอง แต่จำเลยที่ 1 กลับนำไปประกันนายสุเทนเป็นการขัดกับเจตนาของจำเลยที่ 2 และสามี สัญญาประกันจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2นับแต่วันผิดนัดไม่ได้ โจทก์กำหนดราคาค่าประกันสูงเกินไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเพียง 43,125 บาทมิใช่ 43,150.70 บาท ตามที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่22 มีนาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน 43,150 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้ยื่นคำร้องขอประกันตัวนายสุเทน มิ่งขวัญ ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ โดยใช้โฉนดของจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกัน โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกันตามสัญญาประกันเองสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวไปประกันตัวนายสุเทนได้ ตามเอกสารหมาย จ.2 โดยนายวิเชียร แซ่เซียวสามีของจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมตามเอกสารหมาย จ.3กับทั้งมีบันทึกให้ความยินยอมในการยึดหลักประกันตามเอกสารหมาย จ.4ด้วย และได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อให้ประกันตัวนายสุเทนโดยตีราคาค่าประกัน 600,000 บาทเมื่อถึงวันนัดส่งตัวนายสุเทน ปรากฏว่ามีการผิดนัดหลายครั้งคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันและบันทึกการยินยอมให้ยึดหลักประกันตามเอกสารหมาย จ. 3 และ จ.4 หรือไม่ปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อได้ตามข้อนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำเอาโฉนดที่ดินดังกล่าวไปประกันตัวนายสุเทนตามฟ้องจริง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันและบันทึกการยินยอมให้ยึดหลักประกันตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4
ข้อ 2. จำเลยผิดนัดส่งตัวนายสุเทนต่อพนักงานสอบสวนแล้วหรือไม่ ปัญหาข้อนี้เห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาประกันตามที่กล่าวไว้ในข้อ 1 แล้ว การที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องให้ส่งตัวนายสุเทนแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการทราบด้วยแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ส่งตัวนายสุเทนตามนัด จึงถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดแล้ว
ข้อ 3. การที่พนักงานสอบสวนตีราคาค่าประกันเกินกว่า500,000 บาท อันเป็นจำนวนเงินในเช็คนั้น ชอบด้วยกฎหมายเพียงใดหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การตีราคาค่าประกันดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5(2)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8สิงหาคม 2515 นั้น ถ้าจำนวนเงินที่ระบุในเช็คแต่ละฉบับหรือหลายฉบับรวมกันเกินกว่าห้าหมื่นบาท การควบคุมผู้ต้องหา ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกันไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คบทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อจำกัดอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการซึ่งมีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 113 ในอันที่จะกำหนดจำเลยเงินตามที่เห็นสมควรให้นายประกันชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดจำนวนเงินที่นายประกันจะต้องชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกันเพียงไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค การที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้สั่งปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดให้นายประกันใช้เงิน 600,000 บาท เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็คซึ่งมีเพียง 500,000 บาท นั้น เป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจของพนักงานสอบสวนจึงใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ คือเท่าจำนวนเงินในเช็ค มิใช่ตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด เพราะสัญญาประกันดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายแต่อย่างใด
ข้อ 4. ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับตามสัญญาประกันเพียง 150,000 บาท นั้น เมื่อจำนวนที่สูงหรือต่ำเกินไปหรือไม่เพียงใด ปัญหาข้อนี้เห็นว่า เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าปรับต่อพนักงานสอบสวนตามสัญญาประกัน จำเลยต้องชำระค่าปรับตามสัญญาในส่วนซึ่งไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในเช็คเป็นเงิน500,000 บาท เมื่อได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในเรื่องนี้แล้วควรลดค่าปรับให้จำเลยเพียงกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลย เป็นเงิน 250,000บาท นั้นต่ำเกินไป
ข้อ 5. จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดปัญหาข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ตามสัญญาประกันนั้นแบ่งแยกกันได้ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ เห็นว่าตามหนังสือมอบอำนาจเอกสาร จ.2 มีข้อความระบุว่า มอบให้จำเลยที่ 1เป็นผู้มีอำนาจจัดการประกันตัวผู้ต้องหาโดยนำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นประกันและให้จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่แทนด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะเข้าทำสัญญาประกันในนามตนเองมิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ในการตีความแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 เดิม (มาตรา 171ที่แก้ไขใหม่) แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาขอประกันตัวผู้ต้องหาแทนจำเลยที่ 2 ตามที่ได้รับมอบอำนาจมา หาได้กระทำการเป็นส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ต้องหารายนี้จะต้องมีหลักประกัน และจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญาประกันโดยมอบหลักประกันของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ยึดถือไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะขอประกันเป็นการส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1ไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกันย่อมถือได้ว่าสัญญาประกันรายนี้จำเลยที่ 1เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนหาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่1 ชำระหนี้ตามฟ้องได้ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 250,000 บาทแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share