แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยรับเช็คไว้โดยทราบว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมาอันเป็นความผิดฐานรับของโจร แล้วจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 เวลากลางวันมีคนร้ายลักเอาเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สาขาวัดตึกเลขที่ 0118892 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2530 ซึ่งนายทอง อัสสรัตน์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินสด 25,000 บาท จำนวน 1 ฉบับ ราคา 3 บาทของนางกรรณิการ์ สัตวณิช ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ทั้งนี้ในการลักทรัพย์ดังกล่าวคนร้ายได้กระทำโดยล้วงเอาจากกระเป๋าของผู้เสียหายในรถประจำทางสาย 73 อันเป็นยวดยานพาหนะ หลังเกิดเหตุลักทรัพย์แล้วจำเลยได้ครอบครองเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สาขาวัดตึก ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวและนำไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารมหานคร จำกัด สาขาวัดตึก ทั้งนี้โดยตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว จำเลยเป็นคนร้ายลักเอาเช็คธนาคารมหานคร จำกัดสาขาวัดตึก ราคา 3 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในยวดยานสาธารณะหรือมิฉะนั้น ระหว่างวันเวลาดังกล่าว ภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์จนถึงเวลาที่จำเลยครอบครองเช็คดังกล่าว เวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยรับไว้ซึ่งเช็คดังกล่าวของนางกรรณิการณ์ สัตยวณิช ผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปไว้จากคนร้ายทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และหลังจากจำเลยได้ครอบครองเช็คดังกล่าวแล้ว จำเลยเอาไปเสียและทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเช็คดังกล่าวอันเป็นเอกสารที่นายทอง อัสสรัตน์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินสดจำนวน 25,000 บาท ชำระหนี้ให้นางกรรณิการ์ สัตยวณิช ผู้เสียหาย โดยจำเลยได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารมหานคร จำกัด สาขาวัดตึก และลงลายมือชื่อด้านหลังเช็ค โดยจำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายในเช็คดังกล่าว ทั้งได้ลงลายมือชื่อเป็นชื่ออื่นมิใช่ชื่อของจำเลย ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายทอง อัสสรัตน์ และผู้เสียหาย โดยทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถใช้เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากธนาคารและใช้เป็นหลักฐานในการขอรับชำระหนี้จากนายทองอัสสรัตน์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(9),357, 188, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 (ที่ถูกมาตรา 357 วรรคแรก), 188 ให้ลงโทษตามมาตรา 188ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 ปี ข้อหาลักทรัพย์ให้ยกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ลงโทษจำคุก 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำเช็คไปเบิกเงินเป็นของจำเลยย่อมเป็นการกระทำให้เช็คนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมิได้กระทำโดยเจตนาที่จะให้เช็คนั้นไร้ประโยชน์ที่จะนำมาใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 188 โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยนำเช็คไปลงชื่อด้านหลังและยื่นเบิกเงินจากธนาคารแสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเช็คนั้น จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษ…” ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยรับเช็คของกลางซึ่งเป็นของผู้เสียหายมาโดยทราบว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมาอันเป็นความผิดฐานรับของโจรและในชั้นฎีกาคู่ความไม่ได้โต้เถียง ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นอันยุติฉะนั้นเมื่อจำเลยนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร จึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น