คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาใหม่หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลไต่สวนพิจารณาเพียงเหตุเดียวคือมีเหตุสมควร เชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้นมาศาลไม่ได้หรือไม่เท่านั้น จึงไม่ชอบที่จะต้องทำการไต่สวนว่าคดีของคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดมีทางชนะคดีอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่
คำพิพากษาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงมีผลเพียงว่าโจทก์ที่ 2 ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้นไม่มีผลเลยไปถึงว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับความคุ้มครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อจำเลยขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่าจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว เพราะไม่เคยเช่าหรืออาศัยโจทก์ ซึ่งหากฟังได้ดังข้ออ้างจำเลยย่อมมีทางชนะคดีได้ คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นแล้ว ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 62จำเลยเช่าที่ดินบางส่วนปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยไม่มีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้บอกเลิกการเช่า และจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2แต่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดิน จึงขอให้พิพากษาบังคับ

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเช่าที่ดินบางส่วนของโจทก์ที่ 1 ปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยไม่มีสัญญาเช่า ต่อมาโจทก์ที่ 1จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 และได้บอกเลิกการเช่าแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะอยู่ในที่ดินต่อไป พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวาร

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ทั้งคดีของจำเลยที่ 1 มีทางชนะ เพราะจำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว จำเลยไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทหรืออาศัยสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มิได้จงใจขาดนัด แต่เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ ก็ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนโดยมีค่าตอบแทนได้ และจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวให้ชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้าน คำตัดสินของศาลเพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีโจทก์ที่ 2ได้อย่างไร ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่

โจทก์ฎีกาว่า คดีของจำเลยที่ 1 ไม่ได้แสดงว่าจะชนะคดีโจทก์ได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าในชั้นไต่สวนคำขอพิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1นั้น ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนข้อเท็จจริง 2 ประเด็น คือ 1. จำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดหรือไม่ และ 2. คดีของจำเลยที่ 1 มีทางชนะคดีโจทก์หรือไม่ แล้วศาลล่างทั้งสองยกข้อเท็จจริงจากการไต่สวนในประเด็นข้อ 2 ขึ้นประกอบดุลพินิจในการวินิจฉัยสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่หรือไม่ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าการไต่สวนในประเด็นข้อ 2 ไม่มีความจำเป็นต้องกระทำในชั้นขอพิจารณาใหม่นี้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ให้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัด และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล และเมื่อศาลเห็นว่าคำขอของคู่ความถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว ในการที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาใหม่หรือไม่นั้นมาตรา 209 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลไต่สวนพิจารณาต่อไปเพียงเหตุเดียวคือมีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้นมาศาลไม่ได้หรือไม่เท่านั้นด้วยเหตุนี้จึงไม่ชอบที่จะต้องทำการไต่สวนในประเด็นข้อ 2 และนำข้อเท็จจริงจากประเด็นดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยในการมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้พิจารณาใหม่ด้วย ฉะนั้นสารสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยโดยตรงในชั้นนี้จึงอยู่ที่ว่า ในตัวคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้ง ซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นหรือไม่เท่านั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2523 โจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 62 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามเอกสารหมาย จ.2คำพิพากษาดังกล่าวจึงมีผลเพียงว่า โจทก์ที่ 2 ได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1โดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้น ยังไม่มีผลเลยไปถึงว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดดังกล่าวโดยปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว เพราะไม่เคยเช่าหรืออาศัยที่ดินนี้จากโจทก์ ซึ่งถ้าหากฟังได้ดังข้ออ้าง จำเลยที่ 1 ย่อมมีทางชนะคดีได้ คำขอพิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 จึงกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นแล้ว ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคสอง

พิพากษายืน

Share