คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขณะปฏิบัติหน้าที่เวรตำรวจจราจรได้สั่งให้ผู้เสียหายซึ่งขับรถยนต์บรรทุกฝ่าฝืนกฎจราจรหยุดรถเพื่อตรวจใบอนุญาตขับขี่ แล้วภายหลังเรียกเงินจากผู้เสียหายเช่นนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 148 เพราะมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบแต่เป็นความผิดตามมาตรา 149 ฐานเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบและฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องให้ลงโทษตามมาตรา 148 และ 157 แต่มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 149ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามมาตรา 157 ได้
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจราจร ได้เรียกให้ผู้เสียหายซึ่งขับรถยนต์บรรทุกฝ่าฝืนกฎจราจรหยุดรถเพื่อตรวจใบอนุญาตขับขี่และจับกุมอันเป็นการปฏิบัติในอำนาจหน้าที่ แต่ภายหลังได้เรียกเงินจากผู้เสียหายโดยมิชอบ ดังนี้ คงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในอำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา149 และฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 337

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม มีอำนาจหน้าที่จับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2508 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ได้รับคำสั่งจากพันตำรวจตรีประสาท สัตรูแสยงผู้บังคับกองตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยให้เป็นเวรตำรวจจราจร โดยทำหน้าที่ดูแลรักษาและทำการจับกุมผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติจราจรในเขตเทศบาลเมืองนครปฐม ตามวันเวลาดังกล่าว นายสร้าง แสงสว่างได้ขับขี่รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ร.น. 00542 แล่นจากจังหวัดพระนครเพื่อจะไปจังหวัดระนอง ขณะที่รถยนต์มาถึงทางแยกเลี้ยวเข้าถนนสายรอบองค์พระปฐมเจดีย์ อันเป็นเขตเทศบาลเมืองนครปฐม จำเลยซึ่งรักษาการณ์อยู่ที่นั้นได้ให้สัญญาณให้นายสร้าง แสงสว่างหยุดรถแล้วขอดูใบขับขี่เมื่อได้ดูใบขับขี่แล้วจำเลยได้บังอาจใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจนายสร้าง แสงสว่างมอบเงินจำนวน 20 บาทให้แก่จำเลยโดยจำเลยกล่าววาจาขู่เข็ญนายสร้าง แสงสว่างว่าจะเอาใบสั่งหรืออย่างอื่น ซึ่งหมายความว่าถ้าจำเลยออกใบสั่งให้ก็ต้องยึดใบขับขี่รถยนต์นั้น ทั้งนี้โดยไม่ปรากฏว่านายสร้าง แสงสว่างได้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่ประการใด แล้วจำเลยได้กล่าวต่อไปว่าถ้าไม่ให้ออกใบสั่งก็ต้องเอาเงินมอบให้จำเลย 20 บาท นายสร้าง แสงสว่างมีความเกรงกลัวว่าจำเลยจะยึดเอาใบขับขี่รถยนต์ไว้จึงจำยอมมอบเงิน 20 บาทแก่จำเลยแล้วจำเลยคืนใบขับขี่ให้นายสร้าง แสงสว่างไป การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายสร้าง แสงสว่าง ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2509 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ เหตุเกิดที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337, 90 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 13 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 20 บาทแก่เจ้าทรัพย์ด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าการที่นายสร้างผู้เสียหายขับรถบรรทุกผ่านไปทางที่เกิดเหตุเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง เพราะมีคำสั่งห้ามรถบรรทุกผ่านทางนั้นในเวลากลางคืน จำเลยซึ่งทำหน้าที่เป็นตำรวจจราจรจึงมีอำนาจที่จะจับกุมได้ การที่จำเลยสั่งให้นายสร้างผู้เสียหายหยุดรถและตรวจใบขับขี่กับพูดว่าจะออกใบสั่งนั้น จึงเป็นกิจที่จำเลยปฏิบัติได้โดยชอบด้วยตำแหน่งหน้าที่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ดังฟ้อง หากจะฟังว่าจำเลยได้ทำผิดก็เป็นผิดในตอนหลัง คือตอนที่เรียกเงินจากนายสร้างผู้เสียหายแล้วคืนใบขับขี่และปล่อยตัวนายสร้างผู้เสียหายไปนั้นเอง อันเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149เมื่อการกระทำเป็นผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แต่ปรากฏว่าโจทก์มิได้อ้างมาตรา 149 มาท้ายฟ้อง และตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ ก็แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 148 และมาตราอื่น มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 149 ศาลจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 149 ไม่ได้ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานกรรโชกตามมาตรา 337 ด้วยนั้นศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อจำเลยมีอำนาจที่จะจับกุมผู้เสียหายได้โดยชอบดังกล่าวมาแล้วการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายไม่เป็นความผิดตามมาตรา 337 จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ต้องหมายความว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ซึ่งทรัพย์สิน เช่นแกล้งจับหรือจับกุมโดยเขาไม่มีความผิดแล้วขู่เอาเงิน แต่คดีนี้ได้ความว่านายสร้างได้เลี้ยวรถเข้าไปในถนนซึ่งห้ามการจราจรในเวลากลางคืนทั้งจำเลยหาว่านายสร้างไม่หยุดรถที่ป้ายหยุด จึงจับกุมและขอตรวจใบขับขี่ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบ จำเลยคงมีความผิดในตอนหลังคือจับแล้วเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลย คือแทนที่จะจับกุมกลับปล่อยผู้เสียหายไป กรณีต้องด้วยมาตรา 149 ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง โจทก์ก็ไม่อ้างมาตรา 149 มาด้วย แสดงว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามมาตรานั้น จึงลงโทษตามมาตรา 149 ไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คือแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 157ส่วนความผิดฐานกรรโชกตามมาตรา 337 นั้น ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยได้ข่มขืนใจนายสร้างให้ยอมให้เงินแก่จำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายแก่นายสร้างแต่ประการใด จำเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 จำคุกจำเลย 1 ปี คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยฎีกาว่าตามข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ทุกประการ

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของทนายจำเลย และประชุมปรึกษาแล้ว ได้ความจากพยานที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2508 จ่าสิบตำรวจชู ประสาทศรี กับสิบตำรวจเอกประจักษ์พวงแสง ซึ่งรับราชการอยู่กองปราบปรามได้รับคำสั่งจากพันตำรวจเอกสมศักดิ์ แก้วผลึกผู้กำกับการ 6 กองปราบปราม ให้ไปสืบสวนเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกร้องเงินจากผู้ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าที่วิ่งในถนนเพชรเกษม จ่าสิบตำรวจชูสืบสวนแล้วได้ไปติดต่อกับบริษัทสหกิจขนส่ง ซึ่งมีรถยนต์บรรทุกเดินระหว่างระนอง-กรุงเทพฯ เพื่อขออาศัยรถยนต์บรรทุกสินค้าไปสืบสวน

เมื่อคืนวันที่ 13 สิงหาคม 2508 พันตำรวจตรีประสาท สัตรูแสยงผู้บังคับกองตำรวจเมืองนครปฐม มีคำสั่งให้จำเลยตรวจการจราจรตั้งแต่18.00 นาฬิกา ถึง 22.00 นาฬิกา ในคืนนั้นนายสร้าง แสงสว่างคนขับรถยนต์ของบริษัทสหกิจขนส่งได้ขับรถยนต์ของบริษัทสหกิจขนส่งบรรทุกลังปลาเปล่ากับของเบ็ดเตล็ดไปจังหวัดระนองมีนายประสานเด็กประจำรถกับนายน้อยไปด้วย และมีจ่าสิบตำรวจชูกับสิบตำรวจเอกประจักษ์แต่งตัวนอกเครื่องแบบไปกับรถนี้ด้วย นายสร้างขับรถไปถึงจังหวัดนครปฐมเวลาราว 21 นาฬิกาเศษ นายสร้างขับรถเลี้ยวไปตามถนนรอบองค์พระปฐมได้ราว 20 เมตร พบตำรวจจราจรยืนอยู่ข้างถนน 2 คนใช้ไฟฉายโบกแกว่างไปมาให้รถหยุด นายสร้างหยุดรถแล้วลงไปหาตำรวจจราจร 2 คนนั้น ลงไปพร้อมกับนายประสาน จ่าสิบตำรวจชู และสิบตำรวจเอกประจักษ์นายสร้างเคยเห็นหน้าตำรวจจราจรที่เป็นสิบตำรวจโทจำได้ว่าเป็นจำเลย จำเลยว่านายสร้างทำผิดกฎจราจรจึงขอดูใบขับขี่ นายสร้างหยิบให้ดู จำเลยดูแล้วพูดว่าจะเอาใบสั่งหรืออย่างอื่น นายสร้างว่าต้องขับรถทางไกลไม่มีเวลาจะมาเอาใบอนุญาตขับขี่กลับคืน จำเลยพูดว่าถ้าไม่เอาใบสั่งเอาเงินมาให้ 20 บาท นายสร้างพูดว่ามีอยู่ 10 บาทจะเอาไหม จำเลยพูดว่าไม่ตกลงเพราะมีลูกน้องมาด้วย นายสร้างจึงหยิบเงินส่งให้จำเลย 20 บาท นายสร้างให้เงินแล้วก็ชวนพวกที่ลงรถให้กลับไปขึ้นรถ ก่อนขึ้นรถจำเลยส่งใบอนุญาตขับขี่คืนให้นายสร้างและถามว่าคนที่มาด้วยเป็นใคร นายสร้างว่าเป็นคนอาศัยรถมาจำเลยว่าถ้าปดเป็นยิงทิ้งกันแน่ ๆ แล้วนายสร้างจึงขับรถต่อไป เมื่อถึงจังหวัดราชบุรี จ่าสิบตำรวจชูกับสิบตำรวจเอกประจักษ์ลงรถตำรวจทั้งสองนี้ค้างที่จังหวัดราชบุรีก่อนแล้วจึงกลับไปรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบอธิบดีกรมตำรวจให้พันตำรวจตรีพจน์ อุทะนุตทำการสอบสวน เมื่อจับจำเลยได้แล้วได้ให้นายสร้าง นายประสาน จ่าสิบตำรวจชู กับสิบตำรวจเอกประจักษ์ชี้ตัว ปรากฏว่าทั้ง 4 คนนี้ชี้จำเลย

จำเลยนำสืบว่าไม่รู้จักนายสร้าง คืนเกิดเหตุจำเลยรับคำสั่งจากผู้บังคับกองตำรวจให้ทำหน้าที่ตำรวจจราจรอยู่ที่ถนนหน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์ (คือที่องค์พระปฐมเจดีย์) จำเลยอยู่ประจำทำหน้าที่ที่ถนนดังกล่าวตลอดเวลา จำเลยจะจับนายสร้างหรือไม่จำไม่ได้เพราะมีรถมากด้วยกัน จำเลยไม่เคยทราบเรื่องนี้ เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2509 จำเลยเข้าใจว่าที่จำเลยถูกกล่าวหานี้คงเป็นเพราะจำเลยจับคนขับรถบ่อย ๆ ทำให้คนขับรถไม่ชอบจำเลย จึงแกล้งกล่าวหาก็ได้

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยจะได้ทำผิดจริงตามฟ้องของโจทก์หรือไม่นั้น คงได้ความจากพันตำรวจตรีประสาทสัตรูแสยง ผู้บังคับกองตำรวจอำเภอเมืองนครปฐมพยานโจทก์ว่าคืนเกิดเหตุได้สั่งให้จำเลยไปทำหน้าที่ตรวจจราจรประจำถนนซ้ายพระนายสร้าง นายประสาน กับสิบตำรวจเอกประจักษ์พยานโจทก์ว่าเมื่อนายสร้างขับรถไปถึงสามแยกองค์พระปฐมแล้ว นายสร้างได้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ พอเลี้ยวไปได้ราว 20 เมตร ก็มีตำรวจจราจรให้สัญญาณให้นายสร้างหยุดรถ นายสร้างได้หยุดรถอยู่ข้างตำรวจจราจรที่หน้าหอสมุดประชาชน นายประสานว่ามีแสงไฟฟ้าอยู่ตรงที่เกิดเหตุ มีตำรวจจราจรเป็นสิบตำรวจโทคนหนึ่ง กับพลตำรวจอีกคนหนึ่งมาที่รถนายสร้าง สิบตำรวจโทคนนั้นเข้ามาพูดกับนายสร้าง นายสร้างกับนายประสานจำสิบตำรวจโทคนนั้นได้ว่าเป็นจำเลยนี้ เพราะเคยเห็นหน้ามาหลายครั้งก่อนแล้ว และโจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจชูกับสิบตำรวจเอกประจักษ์มาให้การว่าจำจำเลยได้ เมื่อพนักงานสอบสวนให้พยานโจทก์ทั้งสี่นี้ดูตัว พยานของโจทก์ชี้ตัวจำเลย จำเลยก็นำสืบว่าคืนเกิดเหตุจำเลยไปตรวจอยู่บริเวณนั้นจริง ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าพยานโจทก์จำจำเลยได้

ได้ความจากพยานโจทก์ว่า เมื่อนายสร้างหยุดรถแล้ว จำเลยเข้าไปพูดกับนายสร้างแล้วขอดูใบขับขี่ เมื่อจำเลยดูใบขับขี่แล้ว นายสร้างว่าจำเลยพูดกับนายสร้างว่าจะเอาใบสั่งหรืออย่างอื่น แม้นายประสานจะว่าจำเลยพูดว่าจะเอาใบสั่งหรือจะเอาอย่างไร และจ่าสิบตำรวจชูกับสิบตำรวจเอกประจักษ์ว่าจำเลยพูดว่าลื้อจะเอาอย่างไรจะเอาใบสั่งหรือจะเอาอย่างไร เลือกเอาสองอย่างก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะมีข้อแตกต่างในคำพูด แต่คงได้ความในข้อสำคัญว่า จำเลยพูดว่าจะเอาใบสั่งหรือจะเอาอย่างอื่น และคดีคงได้ความจากพยานโจทก์ว่าจำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากนายสร้าง 20 บาท เมื่อนายสร้างให้เงินแก่จำเลยแล้ว จำเลยได้คืนใบขับขี่และให้นายสร้างขับรถต่อไป ได้ที่จำเลยอ้างว่าเพราะจำเลยจับคนขับรถบ่อย ๆ ทำให้คนขับรถไม่ชอบจำเลยจึงแกล้งกล่าวหานั้น ในข้อนี้ได้ความจากนายสร้างว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้นายสร้างไม่ได้แจ้งความ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายสร้างไม่ต้องการจะเอาเรื่องกับจำเลยอยู่แล้ว แต่เพราะจ่าสิบตำรวจชูกับสิบตำรวจเอกประจักษ์รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทางกองปราบปรามทราบจึงได้ดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ขึ้น สิบตำรวจเอกประจักษ์ว่าไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนจ่าสิบตำรวจชูก็ว่าไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลยจึงดูไม่เห็นมีเหตุที่พยานโจทก์จะแกล้งให้การปรักปรำจำเลย ที่นายสร้างว่าระหว่างทางไปจังหวัดราชบุรี จ่าสิบตำรวจชูกับสิบตำรวจเอกประจักษ์ไม่ได้พูดเกี่ยวแก่เรื่องนี้ แต่จ่าสิบตำรวจชูว่าเมื่อรถออกจากนครปฐมแล้ว นายสร้างกับนายประสานพูดถึงเรื่องถูกตำรวจรีดไถเงิน จ่าสิบตำรวจชูได้บันทึกถ้อยคำไว้ที่จังหวัดราชบุรีนั้น แม้พยานโจทก์ให้การแตกต่างกันดังที่จำเลยฎีกามา แต่ศาลฎีกาก็เห็นว่าไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้เรียกและรับเงินไปจากนายสร้างดังที่วินิจฉัยมาแล้ว พยานของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดตามฟ้องโจทก์นั้นยังไม่พอฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยได้เรียกร้องเอาเงินและรับเงินจากนายสร้างจริง

ปัญหาที่ว่าจำเลยจะควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราใดโจทก์ฎีกาว่าจำเลยควรมีความผิดตามมาตรา 148 เพราะคดีฟังได้ว่านายสร้างไม่ได้ทำผิดต่อกฎหมายอย่างใด และการกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 337 ด้วยนั้น ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าที่จะเป็นผิดตามมาตรา 148 จะต้องได้ความว่าเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่ตนหรือผู้อื่น แต่คดีนี้ได้ความว่าคืนเกิดเหตุจำเลยได้รับคำสั่งให้ตรวจการจราจรจำเลยจึงย่อมมีอำนาจที่จะทำการจับหรือตรวจใบขับขี่ของผู้ขับรถยนต์ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรได้ นายประสานพยานโจทก์ว่าพอจำเลยเรียกให้นายสร้างหยุดรถแล้วจำเลยหาว่านายสร้างทำผิดกฎจราจร เมื่อได้ความจากพยานโจทก์เองเช่นนี้ คดีจึงฟังได้ว่านายสร้างได้ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจรซึ่งเป็นการผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก การที่จำเลยขอดูใบขับขี่จากนายสร้างจึงฟังได้ว่าในเบื้องต้นจำเลยได้ปฏิบัติการไปตามหน้าที่ของจำเลยโดยชอบ เมื่อจำเลยปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยชอบแล้วจึงเรียกร้องเอาเงินจากนายสร้าง การกระทำของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่การที่จำเลยเรียกเงินจากนายสร้างภายหลังเช่นนี้ ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในอำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 149 และยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ตาม มาตรา 157 ด้วย หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วต่างหากจึงไม่จำเป็นต้องลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกหาได้หมายความว่าเมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 149 แล้วจะไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ดังที่จำเลยเข้าใจไม่ ฉะนั้น เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 149 แต่ขอให้ลงโทษตามมาตรา 157 ศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยตามบทมาตรานี้ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1138/2505 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์พลตำรวจพินิจ เทพประสิทธิ์จำเลยที่อ้างมาสนับสนุนนั้น ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 149 ด้วย กรณีจึงไม่ตรงกับคดีนี้

ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยควรมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติการไปตามตำแหน่งหน้าที่โดยชอบแล้ว ต่อมาจำเลยจึงเรียกเอาเงินเช่นนี้ คดียังไม่ได้ว่าจำเลยได้ข่มขืนใจให้นายสร้างมอบเงินให้จำเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่ผิดตามมาตรา 337

สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์และฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์และของจำเลยเสีย

Share