คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 29/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 26 บัญญัติให้ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงาน มีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์ แห่งความยุติธรรมเป็นบทบัญญัติไว้เฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม แม้โจทก์ลงลายมือชื่อในหน้าสำนวนรับว่าศาลแรงงานกลาง ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 แต่ตาม คำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 โจทก์อ้างว่าตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ถึงปลายเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์ติดตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ตลอดมาก็ไม่พบว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษา จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 โจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษา ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องของ โจทก์ดังกล่าวกรณียังถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ให้โจทก์ฟัง กรณีย่อมมีเหตุที่จะขอขยาย ระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะไต่สวนคำร้อง ของโจทก์ดังกล่าวว่าเป็นจริงตามคำร้องหรือไม่ ไม่ควร ด่วนยกคำร้องเสียก่อน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกันศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541ให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน โดยอ้างเหตุว่าในวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวเสร็จสิ้น และศาลแรงงานกลางได้นัดฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว แต่ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ถึงปลายเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์ได้ตรวจสำนวนและติดตามผลคำพิพากษาตลอดมาก็ไม่พบว่าศาลได้มีคำพิพากษา โดยเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าสำนวนยังอยู่ระหว่างทำคำพิพากษา จนวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 โจทก์เพิ่งได้รับคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ลงนามทราบคำพิพากษาวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 โจทก์มายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์วันที่ 20 กรกฏา คม 2541 พ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้วโจทก์จึงขอขยายระยะเวลาไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีมีเหตุที่โจทก์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 บัญญัติให้ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนดศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นบทบัญญัติไว้เฉพาะแล้ว จึงไม่อาจ นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้ แม้โจทก์ลงลายมือชื่อในหน้าสำนวนรับว่าศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ว่าให้โจทก์รอฟังคำพิพากษาวันนี้ กับอนุญาตให้โจทก์คัดสำเนาคำพิพากษาได้เมื่อศาลแรงงานกลางได้อ่าน พิมพ์และลงลายมือชื่อในคำพิพากษาครบองค์คณะแล้ว แต่ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 โจทก์อ้างว่าตั้งแต่ วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ถึงปลายเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์ติดตามผลคำพิพากษาคดีนี้ตลอดมาก็ไม่พบว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษา จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 โจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษา หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องของ โจทก์ดังกล่าว กรณียังถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ให้โจทก์ฟัง ดังนั้น ย่อมมีเหตุที่จะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะไต่สวนคำร้องของ โจทก์ดังกล่าวว่าเป็นจริงตามคำร้องหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ว่าโจทก์ลงลายมือชื่อทราบคำพิพากษาวันที่ 28 กรกฎาคม (ที่ถูกน่าจะเป็นพฤษภาคม) 2541 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์วันที่ 20 กรกฏาคม 2541พ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จึงขอขยายระยะเวลาไม่ได้ ให้ยกคำร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของ โจทก์ฉบับลงวันที่20 กรกฎาคม 2541 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share