คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9743/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน นายทะเบียนมีคำสั่งให้จำเลยหยุดรับประกันวินาศภัยและมีประกาศห้ามจำเลยจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งคำสั่งและประกาศดังกล่าวออกโดย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 52 และจำเลยทราบคำสั่งและประกาศดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้โอนที่ดินแก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงิน 21,799,315 บาท แก่โจทก์ภายใน 20 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากไม่ชำระจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 152797 และ 152798 ตำบลบางซื่อ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1518/5 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เพื่อชำระหนี้ จำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด โจทก์จึงยื่นคำขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ตามสัญญา จากนั้นโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วได้นำมาจดทะเบียนโอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุก อธิบดีกรมการประกันภัย ในฐานะนายทะเบียนมีคำสั่งนายทะเบียนที่ 12/2550 ให้จำเลยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและมีประกาศนายทะเบียนลงวันที่เดียวกัน ห้ามจำเลยเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สิน เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างตามปกติ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง ต่อมามีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน อันเป็นเวลาภายหลังนายทะเบียนมีคำสั่งแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 อย่างชัดแจ้งและตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ นิติกรรมการรับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์และการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่สืบเนื่องต่อมาในภายหลังตกเป็นโมฆะ โดยให้โจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองไปดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาท หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งแทนการแสดงเจตนา กรณีไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้โจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 21,799,316 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นก่อนที่นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้จำเลยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและห้ามจำหน่ายทรัพย์สิน โดยโจทก์ไม่ทราบคำสั่งดังกล่าวมาก่อน คำสั่งของนายทะเบียนไม่มีผลบังคับแก่โจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมไปก็เพื่อให้จำเลยนำไปใช้แก้ปัญหาสภาพคล่องในการประกอบกิจการ สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนที่โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำสั่งศาล การจดทะเบียนจำนองและไถ่ถอนจำนองระหว่างโจทก์กับผู้คัดค้านที่ 1 ตลอดจนการที่โจทก์จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 กระทำขึ้นต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายและกระทำโดยสุจริตเปิดเผยและเสียค่าตอบแทน ไม่ได้ทำให้ผู้ร้องหรือบุคคลใดเสียเปรียบ นิติกรรมไม่ตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 152797 และ 152798 ตำบลบางซื่อ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1518/5 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับโจทก์ และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองและไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1518/5 ระหว่างโจทก์กับผู้คัดค้านที่ 1 และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1518/5 ระหว่างโจทก์กับผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย จำเลยกู้เงินโจทก์เป็นเงิน 20,000,000 บาท พร้อมทั้งจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 152797 และ 152798 ตำบลบางซื่อ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1518/5 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ หลังจากนั้นอธิบดีกรมการประกันภัยในฐานะนายทะเบียนมีคำสั่งนายทะเบียนที่ 12/2550 ให้จำเลยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และนายทะเบียนได้มีคำสั่งในวันเดียวกัน ห้ามจำเลยเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินตามประกาศนายทะเบียนเรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัทประกันวินาศภัยในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว จำเลยไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.935/2551 ของศาลชั้นต้น แต่จำเลยไม่ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการถอนชื่อจำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 152797 และ 152798 ตำบลบางซื่อ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร แล้วลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามคำขอเรื่องโอนตามคำสั่งศาล (มีค่าตอบแทน) โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 152797 และ 152798 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินโฉนดเลขที่ 152797 และ 152798 จากผู้คัดค้านที่ 1 และโจทก์จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 152797 และ 152798 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยและศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
มีปัญหาที่สมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนตามฎีกาของโจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การประกันวินาศภัยเป็นธุรกิจที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ที่มาใช้บริการของธุรกิจประกันวินาศภัย พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 เป็นพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อให้รัฐสามารถควบคุมดูแลให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยดำเนินธุรกิจที่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้เอาประกันและทำให้กิจการประกันวินาศภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ นอกจากกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติ เพิกถอน หรือแก้ไขได้แล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังมีความผิดทางอาญาอีกด้วย จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า ขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน นายทะเบียนซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการประกอบการของจำเลยได้มีคำสั่งให้จำเลยหยุดรับประกันวินาศภัยและมีประกาศห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายทรัพย์สิน ซึ่งคำสั่งและประกาศออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 52 และจำเลยทราบคำสั่งและประกาศแล้ว การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในขณะที่คำสั่งและประกาศมีผลบังคับ ตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เท่ากับไม่มีการทำสัญญาต่อกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาท จึงไม่อาจทำนิติกรรมในที่ดินพิพาทได้ โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองจะทำการโดยสุจริตหรือโจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองไม่ทราบว่าจำเลยต้องห้ามมิให้จำหน่ายทรัพย์สินของตนในระหว่างถูกสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นให้เพิกถอนนิติกรรมต่างๆ ที่โจทก์กระทำ จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์และผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share