คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวว่า บริษัท น. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่อง สมุดโน้ตกระชากวิญญาณ และบริษัท น. เป็นผู้อนุญาตให้บริษัท อ. ใช้ลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ดังกล่าว ต่อมาบริษัท อ. เป็นผู้ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้เสียหายเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองฐานให้เช่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อการค้า ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า การที่บริษัท น. อนุญาตให้บริษัท อ. ใช้สิทธิในงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ตามฟ้อง มีขอบเขตแห่งสิทธิที่จะใช้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (5) อย่างไร รวมถึงเขตดินแดน ระยะเวลา และเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบว่าบริษัท อ. เป็นผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏด้วยว่าบริษัท น. ได้มอบอำนาจให้บริษัท อ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองแทนตนด้วย การร้องทุกข์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่อาจถือได้ว่ามีคำร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนในคดีนี้จึงไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 31, 70, 75, 76 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลางและสั่งจ่ายเงินค่าปรับในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและข้อเท็จจริงยุติไปตามคำบรรยายฟ้องนั้น ได้ความว่า บริษัทนิปปอน เทเลวิชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่องสมุดโน้ตกระชากวิญญาณ (เดทโน้ต) และบริษัทนิปปอน เทเลวิชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด เป็นผู้อนุญาตให้บริษัทเอ็มพิคเจอร์ จำกัด ใช้ลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ ต่อมาบริษัทเอ็มพิคเจอร์ จำกัด เป็นผู้ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้เสียหายเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองฐานให้เช่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ เพื่อการค้าอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า บริษัทนิปปอน เทเลวิชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด อนุญาตให้บริษัทเอ็มพิคเจอร์ จำกัด ใช้สิทธิในงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องมีขอบเขตแห่งสิทธิที่จะใช้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (5) อย่างไร รวมถึงเขตดินแดน ระยะเวลา และเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบว่าบริษัทเอ็มพิคเจอร์ จำกัด เป็นผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏด้วยว่าบริษัทนิปปอน เทเลวิชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด ได้มอบอำนาจให้บริษัทเอ็มพิคเจอร์ จำกัด ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองแทนตนด้วย การร้องทุกข์ตามที่กล่าวไว้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจถือได้ว่ามีคำร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนในคดีนี้จึงไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share