แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อมีประเด็นดังกล่าวตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 2 การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่ส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ยกเรื่องกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นกล่าวอ้างก่อนศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษา ถือว่าจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์
หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีเป็นเอกสารมหาชน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าแท้จริงและถูกต้อง จำเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นผู้ชำระบัญชีเนื่องจากถูกปลอมลายมือชื่อ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่นำสืบ เมื่อจำเลยที่ 2 นำสืบเพียงแต่เบิกความลอยๆ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษี กลับไม่กันเงินที่จะนำไปชำระหนี้ภาษี ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่ม แต่เงินเพิ่มมิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระ และไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 จึงมีอายุความสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้นำส่งภาษี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) ภริยาจำเลยที่ 2 รับหนังสือในวันที่ 31 มีนาคม 2549 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องวันที่ 14 มีนาคม 2551 จึงยังไม่พ้นกำหนดสองปี นอกจากนี้ ยังถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาละเมิดด้วย ซึ่งได้ความว่า การดำเนินคดีรายจำเลยที่ 2 นั้น นิติกรประจำสรรพากรภาค 3 จัดทำบันทึกข้อความรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสนอสรรพากรภาค 3 ที่ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อความเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 กรณีต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี อีกทั้งไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ซึ่งคือวันที่ครบกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าภาษีไปชำระ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องอำนาจการพิจารณาคดีของศาล เมื่อจำเลยที่ 4 มิได้กล่าวอ้างปัญหานี้ในระหว่างพิจารณาของศาลภาษีอากร อีกทั้งมิได้โต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิยกประเด็นนี้ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระภาษีและเงินเพิ่ม 633,370.88 บาท แก่โจทก์และร่วมกันชำระเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี 386,270.49 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มมิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องโจทก์จริง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินค่าภาษีพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 633,370.88 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของจำนวนเงินค่าภาษีอากรค้างจำนวน 386,270.49 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (14 มีนาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ไม่เกินค่าภาษีอากรที่ต้องชำระ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นางจุไรรัตน์ ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายแล้วและผู้ร้องมีความประสงค์ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 3 ผู้มรณะ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ชื่อว่า บริษัทเพชรชัยศรี จำกัด มีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 4 และนายกมล ผู้ตายเป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชี นายกมลส่งเอกสารงบดุลของจำเลยที่ 1 ต่อสำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ สำแดงมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 3,962,704.90 บาท จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี นายกมลผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2992/2549 ตั้งจำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของนายกมลผู้ตาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย/นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2547 แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และนายกมลผู้ตายในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ประจำเดือนภาษีสิงหาคม 2547 เป็นภาษีจำนวน 396,270.49 บาท เงินเพิ่ม 112,937.08 บาท รวมทั้งสิ้น 509,207.57 บาท เนื่องจากเจ้าพนักงานของโจทก์ได้ตรวจข้อมูลผู้เสียภาษีของจำเลยที่ 1 ณ วันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ไม่ปรากฏมีการหักภาษีเงินได้จากส่วนแบ่งกำไรส่งโจทก์ จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์จำนวน 10,000 บาท คงมีภาษีค้าง ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2549 เป็นเงิน 386,270.49 บาท เงินเพิ่ม 112,937.08 บาท รวมทั้งสิ้น 499,207.57 บาท
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีละเมิดต่อศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีละเมิดต่อศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้วินิจฉัยไปตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องทุกข้อและคำฟ้องของโจทก์เป็นการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดตามประมวลรัษฎากรและละเมิด ทั้งคำฟ้องของโจทก์บรรยายให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งการฟ้องให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว นั้น ปัญหานี้ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 บัญญัติว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเรื่องต่อไปนี้ (1) คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร (2) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร (3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร (4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร (5) คดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรและมาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า คดีของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดฐานละเมิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ย่อมถือว่าเป็นกรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งศาลภาษีอากรกลางจะต้องส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่ส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย จึงเป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการพิจารณาคดีหรือเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ยกเรื่องกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นกล่าวอ้างก่อนศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษา ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบนั้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาอีก
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อที่สองว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความให้ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้มีการประชุมและผู้ถือหุ้นได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และไม่มีผู้ใดเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในเอกสารเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบจึงมีน้ำหนักกว่าโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและเงินเพิ่มตามฟ้องแก่โจทก์นั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมาย…คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น… ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร เห็นว่า หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เป็นเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำขึ้นหรือรับรองจึงเป็นเอกสารมหาชนตามบทบัญญัติดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง โจทก์เป็นฝ่ายอ้างเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความถูกต้องแท้จริงแห่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้นมายันกลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่ถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ถูกปลอมลายมือชื่อลงในเอกสารรายการจดทะเบียนเลิกบริษัท โดยระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2547 ให้เป็นผู้ชำระบัญชี แต่ความจริงไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ในวันดังกล่าว ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องแท้จริงแห่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยที่ 2 มีเพียงตนเองมาเบิกความเป็นพยานในปัญหานี้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนผู้ชำระบัญชี ลายมือชื่อในเอกสารการจดทะเบียนที่ระบุว่าเป็นลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 แต่มีคนอื่นปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และไม่เคยทำหน้าที่ผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 อันเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายให้รับฟังได้ว่า หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องแท้จริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อไปว่า แม้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ เพราะหากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ทวงถามผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แล้วผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์สามารถฟ้องให้ผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้มาชำระแก่ตนเท่านั้น อีกทั้งการที่ผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและชำระภาษีในนามของจำเลยที่ 1 หากผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษี โจทก์ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 เสียเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของจำนวนเงินค่าภาษีเท่านั้น ผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวและจำเลยที่ 2 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มแก่โจทก์ นั้น ปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 บัญญัติว่า หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทนั้นให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น มาตรา 1264 บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ตามบทแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และมาตรา 1269 บัญญัติว่า อันทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือของบริษัทนั้น จะแบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น จากบทบัญญัติดังกล่าวจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เฉพาะกรณีที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยไม่ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันเสร็จการชำระบัญชี ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ดังที่พยานโจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ชำระบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มแก่โจทก์ กลับไม่กันเงินที่จะนำไปชำระหนี้ภาษีและเงินเพิ่มแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นแทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 633,370.88 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวน 386,270.49 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มมิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระ ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งทำละเมิดต่อโจทก์ต้องรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 เพราะการที่เจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ไปยังผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่การกระทำอันมีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดีและไม่มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องในวันที่ 14 มีนาคม 2551 จึงเกิน 2 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกการชำระบัญชีแล้ว และการกระทำอื่นใดที่มีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดีอันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจะต้องเป็นการกระทำที่มีผลโดยตัวของการกระทำนั้นเองว่า ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามผู้กระทำย่อมมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้โดยการยึดอายัดทรัพย์โดยไม่ต้องฟ้องคดีนั้น ปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 บัญญัติว่า ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี มาตรา 193/14 บัญญัติว่า อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้… (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ส่วนวรรคสองบัญญัติว่า เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มและให้จำเลยที่ 2 นำเงินของจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่เนื่องจากโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ไปยังจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเดือนสิงหาคม 2547 เป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มตามที่โจทก์เรียกร้อง อันมีผลให้จำเลยที่ 1 อาจถูกยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องร้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) ภริยาจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับหนังสือในวันที่ 31 มีนาคม 2549 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 นำเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระไปชำระแก่โจทก์ ดังนั้น อายุความเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มดังกล่าวจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 จึงยังไม่พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ประกอบมาตรา 193/14 (5) ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อมาว่า คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความละเมิดหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาละเมิดด้วย กรณีจึงต้องวินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความละเมิดหรือไม่ เนื่องจากการกระทำละเมิดได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2549 อันเป็นวันครบกำหนด 30 วัน ที่จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2547 นั้น ปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด โจทก์มีนายอำนาจ นิติกรประจำสรรพากรภาค 3 เบิกความว่า นายอำนาจมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อส่งให้แก่พนักงานอัยการ นายอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อเสนอนายอรรณพ ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นสรรพากรภาค 3 ที่ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้ถามค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อพิจารณาบันทึกข้อความของส่วนกฎหมายและเร่งรัดภาษีอากรค้าง ฝ่ายกฎหมายและคดีภาษีอากร ที่ กค 0711/312 เรื่อง การดำเนินคดีรายจำเลยที่ 1 ที่นายอำนาจมีถึงสรรพากรภาค 3 ให้ดำเนินการฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งนายอรรณพลงนามเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด สำหรับคดีนี้คือวันที่ครบกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย/นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2549 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความในมูลละเมิด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มีเพียงข้อเดียวว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่ส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลภาษีอากรกลางว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง แต่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเพียงว่า รอสั่งในคำพิพากษาโดยไม่ส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 10 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางนับตั้งแต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นจนถึงวันที่มีคำพิพากษาจึงไม่ชอบ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ได้กล่าวอ้างปัญหานี้ในระหว่างพิจารณาของศาลภาษีอากร อีกทั้งไม่ได้โต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรแต่อย่างใด กรณีสำหรับจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรณีไม่มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกมล ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง กับให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท