แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ.มาตรา 104 ให้อำนาจแก่ศาลที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่จำเลยและโจทก์นำเข้าสู่กระบวนพิจารณานั้นเป็นการเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นสาระสำคัญ โดยสั่งให้ทำแผนที่วิวาทตามที่คู่ความนำชี้ เมื่อคู่ความแถลงรับว่าแผนที่วิวาทถูกต้อง และแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้น ก็เป็นการเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย จึงเป็นการใช้อำนาจศาลตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมิได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันเป็นส่วนสัด เมื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองกันเป็นส่วนสัด ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามส่วน โดยกำหนดวิธีการแบ่งตามที่ ป.พ.พ.มาตรา1364 บัญญัติไว้ได้ ไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น หรือพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์และจำเลยตกลงกันให้โจทก์ครอบครองที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมด้านทิศเหนือและจำเลยครอบครองด้านทิศใต้ ตามแผนที่วิวาทซึ่งคู่ความรับว่าถูกต้องและจำเลยได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้แล้ว หากจะให้เอาที่ดินพิพาทประมูลขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์จำเลยตามส่วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย จำเลยอาจได้รับความเดือดร้อน ดังนี้ศาลให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทตามแนวแผนที่วิวาทดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ในฐานะเจ้าของรวม จำเลยให้การกล่าวแก้ว่าวิธีการแบ่งทรัพย์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้องมิได้ขอบังคับให้ที่ดินส่วนใดเป็นของจำเลยเกินกว่าสิทธิของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์