แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบการค้าด้วยการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร จำเลยประกอบพาณิชยกิจโดยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์นำไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่งการซื้อขายจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ตอนท้าย จึงมีอายุความ5 ปี ตามมาตรา 193/33(5)
ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 กำหนดให้ตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ให้อำนาจศาลที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้โจทก์แพ้คดีเป็นให้โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ มีผลเท่ากับโจทก์ชนะคดีทั้งสองศาลศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ได้ด้วย และไม่เป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์อยู่แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2537จำเลยซื้อยากำจัดวัชพืชยี่ห้อกรัมม๊อกโซนทัชดาวน์ แบนอิช วันไซด์ซูเปอร์ และยาฆ่าแมลงยี่ห้อคาราเต้ จากโจทก์รวม 11 ครั้ง แต่ละครั้งมีกำหนดชำระเงินภายใน 90 วัน นับแต่วันสั่งซื้อ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,951,516 บาท โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวให้จำเลยครบถ้วนแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระเงินแต่ละครั้ง จำเลยมิได้ชำระเงินให้โจทก์ตามกำหนด เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยจึงชำระให้บางส่วนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 จำนวน 320,000บาท และโจทก์ให้ส่วนลดจำเลยอีก 387,408.80 บาท จำเลยยังค้างชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์อีก 2,244,107.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,735,005.65 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,244,107.20 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันผิดนัด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,244,107.20 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 10 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 490,898.45 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) เพราะยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ส่งสินค้าครั้งสุดท้าย ซึ่งจะต้องยื่นฟ้องในวันที่ 10 มกราคม 2540 นั้น เห็นว่า โจทก์ประกอบการค้าด้วยการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร จำเลยประกอบพาณิชยกิจโดยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์นำไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 193/34(1) ตอนท้ายจึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33(5) โจทก์ยื่นฟ้องคดีในวันที่ 11 ธันวาคม 2540เมื่อนับถึงวันที่ครบกำหนดชำระค่าสินค้าในวันที่ 10 มกราคม 2538 เป็นเวลาเพียง2 ปีเศษ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ส่วนนี้ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกาในผล
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายและเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่บทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวก็ให้อำนาจศาลที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ฉะนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้โจทก์แพ้คดี เป็นให้โจทก์ชนะคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ มีผลเท่ากับโจทก์ชนะคดีทั้งสองศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ได้ด้วยซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่เป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์อยู่แล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน