คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ให้ถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้นเมื่อ ช. ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ส. และเด็กชาย ว. บุตรของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะจากจำเลยผู้ทำละเมิดแก่ผู้ตายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์กับนายชัยกมล จำปา อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 2 คน คือ เด็กชายสุริยาจำปา และเด็กชายวัฒนา จำปา นายชัยกมลได้รับรองบุตรทั้ง 2 คนแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 เวลาประมาณ 10 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ลจ 137 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2ตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาตามถนนกาญจนาภิเษกมุ่งหน้าไปทางต่างระดับฉิมพลี ซึ่งตัดกับถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ในช่องเดินรถที่ 1นับจากทางด้านซ้ายมือของจำเลยที่ 1 เมื่อมาถึงสะพานข้ามคลองบางระมาด ซึ่งลักษณะสะพานมีความโค้งสูง ไม่สามารถมองเห็นบุคคลที่อยู่ปลายสะพานอีกด้านหนึ่งได้ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ลงจากสะพานดังกล่าวด้วยความเร็วและความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมาชนกับรถสามล้อเครื่อง (ซาเล้ง) ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนที่นายชัยกมลขับอยู่ด้านหน้ารถยนต์ของจำเลยที่ 1 ในช่องเดินรถเดียวกันเป็นเหตุให้นายชัยกมลถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะเด็กชายสุริยาเป็นเงิน 216,000 บาท และเด็กชายวัฒนาเป็นเงิน504,000 บาท กับดอกเบี้ย 8,136.98 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 728,136.98 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 720,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ระหว่างไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากเด็กชายสุริยา จำปา และเด็กชายวัฒนา จำปา มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชัยกมล จำปา ผู้ตาย จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ลจ 137 กรุงเทพมหานคร จริง แต่เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของผู้ตายซึ่งขับรถสามล้อเครื่องออกจากซอยข้างถนนอย่างกะทันหันตัดหน้ารถยนต์จำเลยที่ 1 ในระยะกระชั้นชิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไป เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 1 ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทของผู้ตายเป็นเงิน 130,000 บาท และมีข้อตกลงกันว่าจะไม่เรียกร้องสิ่งอื่นใดกับจำเลยที่ 1 อีก ซึ่งโจทก์ก็ทราบข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังได้ว่า โจทก์กับนายชัยกมล จำปา อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร2 คน คือ เด็กชายสุริยา จำปา และเด็กชายวัฒนา จำปา นายชัยกมลไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าเด็กชายสุริยาและเด็กชายวัฒนาเป็นบุตร เพียงแต่รับรองว่าเป็นบุตรโดยให้ใช้นามสกุลของตนและไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียน ตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ลจ 137 กรุงเทพมหานคร ชนกับรถสามล้อเครื่องของนายชัยกมลที่บริเวณสะพานข้ามคลองบางระมาด ถนนกาญจนาภิเษก แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้นายชัยกมลถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายสุริยาและเด็กชายวัฒนาจึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 เท่านั้น เมื่อนายชัยกมลผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายสุริยาและเด็กชายวัฒนาบุตรของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายสุริยาและเด็กชายวัฒนาจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลเท่านั้นส่วนการพิจารณาพิพากษาคดีต่าง ๆ ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share