คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจากจำเลย 2 ห้อง ในราคาห้องละ 350,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำให้จำเลยแล้วห้องละ105,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่จำเลยทราบว่าโจทก์ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หากจะติดต่อกับโจทก์ให้ติดต่อผ่าน จ. พี่สาวโจทก์ การที่จำเลยได้ส่งโทรสารแผนที่ตั้งโครงการไปให้ จ. พี่สาวโจทก์ เพื่อให้ จ. นำไปขอติดตั้งโทรศัพท์ในห้องอาคารชุดแทนโจทก์ แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ ได้แจ้งให้จำเลยติดต่อเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดผ่าน จ. ตั้งแต่ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ จึงต้องถือว่าที่อยู่ของ จ.เป็นภูมิลำเนาที่โจทก์ได้เลือกไว้เป็นการเฉพาะการนี้ดังนั้น แม้จำเลยจะมีหนังสือแจ้งกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ทั้งสองฉบับไปยังภูมิลำเนาเดิมของโจทก์ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ ในสัญญาก็ตาม แต่จำเลยไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยัง ภูมิลำเนาเฉพาะการของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบ คำบอกกล่าว จำเลยยังคงต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย อยู่ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ ห้องชุดแก่โจทก์แล้วจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงเป็น ฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาและบังคับให้จำเลย คืนเงินมัดจำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 291,900 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 210,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 210,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 210,000 บาท นับแต่วันที่ 6พฤศจิกายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจากจำเลย 2 ห้อง ในราคาห้องละ 350,000 บาทตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 โจทก์ชำระเงินมัดจำให้จำเลยแล้วห้องละ 105,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6ส่วนที่เหลือจะชำระในวันทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปยังภูมิลำเนาของโจทก์แล้วน้องชายโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในใบตอบรับ การที่โจทก์ไม่ได้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากจำเลยภายในกำหนดถือว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น โจทก์มีตัวโจทก์นางสาวเจนจิรา กมลเศวตกุล พี่สาวโจทก์มาเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เดินทางติดตามสามีไปอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2535 และระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2536 และโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่จำเลยทราบว่าโจทก์ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หากจะติดต่อกับโจทก์ให้ติดต่อผ่านนางสาวเจนจิรา พี่สาวโจทก์ นอกจากนี้นางสาวมาริยา ภักดีไทยพยานจำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ ถามค้านว่าโจทก์แจ้งมาให้จำเลยทราบว่าจะต้องเดินทางไปยังต่างประเทศประมาณปลายปี 2535 ประกอบกับเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 จำเลยได้ส่งโทรสารแผนที่ตั้งโครงการไปให้นางสาวเจนจิราพี่สาวโจทก์ เพื่อให้นางสาวเจนจิรานำไปขอติดตั้งโทรศัพท์ในห้องอาคารชุดแทนโจทก์ เห็นว่า โจทก์มีหลักฐานหนังสือเดินทางมาแสดง จึงน่าเชื่อว่าระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2535ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2535 และระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2536ถึงวันที่ 24 กันยายน 2536 โจทก์อยู่ต่างประเทศ และจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยติดต่อเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดผ่านนางสาวเจนจิราตั้งแต่ก่อนที่จะเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ดังนั้น จึงต้องถือว่าที่อยู่ของนางสาวเจนจิราเป็นภูมิลำเนาที่โจทก์ได้เลือกไว้เป็นการเฉพาะการนี้ ดังนั้น แม้จำเลยจะมีหนังสือแจ้งหมายกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองฉบับไปยังภูมิลำเนาเดิมของโจทก์ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม แต่จำเลยไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบคำบอกกล่าวจำเลยยังคงต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายอยู่เมื่อโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์แล้วจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาและบังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้
พิพากษายืน

Share