คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5621/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา โดยจำเลยที่ 1ยอมยกทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นของตนให้แก่โจทก์และบุตรบุญธรรม 4 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่ของตนไปจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1ไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่แท้จริง เป็นเหตุให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงต้องได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนจะเป็นจริงตามที่โจทก์ฟ้องหรือจำเลยทั้งสองต่อสู้และกรณีจะเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไป ดังนั้นการที่โจทก์มิได้บรรยายในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริตอย่างไรในการรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1และการจำนองที่ดินทำให้โจทก์เสียเปรียบอย่างไร ไม่ทำให้ฟ้อง ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3ตกเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนเสีย
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยจำเลยที่ 1 ยอมยกทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นของตนให้แก่โจทก์และบุตรบุญธรรม 4 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1851ซึ่งมิใช่ของตนไปจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 150,000 บาทและนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1148, 1151, 1152, 1837 และ 1903 ซึ่งมิใช่ของตนไปจำนองให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 300,000 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 จึงตกเป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1มิใช่เจ้าของที่แท้จริง หามีผลแต่ประการใดไม่ และเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงต้องได้รับความเสียหายขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 6 ฉบับ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 การกระทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้น ฟ้องของโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนจะเป็นจริงตามที่โจทก์ฟ้องหรือจำเลยทั้งสามต่อสู้และกรณีจะเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไป ดังนั้น การที่โจทก์มิได้บรรยายในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สุจริตอย่างไรในการรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และการจำนองที่ดินทำให้โจทก์เสียเปรียบอย่างไรไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นฟ้องเคลือบคลุม
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share