คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 112ตรี นั้นว่ามีได้เฉพาะ 2 กรณี คือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิอย่างหนึ่ง กับกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดตามมาตรา 40 อีกอย่างหนึ่ง คดีนี้แม้จะปรากฏว่า จำเลยนำสินค้าเข้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปีนับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยมิได้นำสินค้าที่นำเข้านี้ไปผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จสิ้นครบถ้วนภายใน 1 ปี ก็ตาม แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า จำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยยื่นใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้
พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ในหมวด 3 และภาษีการค้าในหมวด 4 ของลักษณะ 2 แห่ง ป.รัษฎากร แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษี” และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2528 มาตรา 112 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งบาทให้ตัดทิ้ง” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยกเว้นภาษีแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำเงินค่าภาษีทั้งหมดมาชำระ เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้นำเงินค่าภาษีมาชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน การคำนวณภาษีดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุด การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้ตัดเศษของบาทจากการคำนวณภาษีจึงไม่ชอบ

Share