คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยปลอมหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุมซึ่งเป็นเอกสารราชการ และยังได้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แล้วประทับดวงตราปลอมดังกล่าวในหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุมที่ปลอมขึ้นนั้นพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวก็ด้วยมีเจตนาที่จะปลอมหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกเหนือพื้นที่ควบคุมทั้งฉบับให้สำเร็จบริบูรณ์เท่านั้น กรณีหาได้มีการกระทำอื่นใดอีกฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางชายแดนซึ่งไม่ใช่ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว จำเลยได้เข้าพักอาศัยที่จังหวัดกาญจนบุรีและกรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และได้ปลอมดวงตราประทับรูปสิงห์ของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อใช้ในการปลอมเอกสารราชการและปลอมเอกสารหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุม อันเป็นเอกสารราชการซึ่งเจ้าพนักงานอำเภอสวนผึ้งทำขึ้นและรับรองในหน้าที่ โดยทำปลอมขึ้นทั้งฉบับและใช้ดวงตราปลอมดังกล่าวประทับลงในเอกสารหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุม ซึ่งจำเลยทำปลอมขึ้นพร้อมกับลงลายมือชื่อนายไชยกุล ตั้งทองปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอสวนผึ้งปลอมลงในเอกสารราชการดังกล่าว และใช้เอกสารราชการดังกล่าวแสดงต่อร้อยตำรวจโทสุภาพ ดีดอม กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร้อยตำรวจโทสุภาพ ดีดอม กับพวกเจ้าพนักงานอำเภอสวนผึ้ง เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองและประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251, 252, 265, 268, 91, 33 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 12, 18, 62, 81 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251, 252, 265, 268 วรรคสองพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 12 วรรคหนึ่ง (1),18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางและไม่ยื่นแบบรายการที่กำหนดไว้และไม่ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 4 เดือน ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานปลอมดวงตรา จำคุก 3 ปี ฐานใช้ดวงตราปลอม จำคุก 3 ปี ฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี10 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและทำดวงตราปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 251 กระทงหนึ่งซึ่งโทษตามมาตรา 251 เป็นบทหนักกับมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้ดวงตราปลอมตามมาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 252 อีกด้วย ซึ่งโทษตามมาตรา 252 เป็นบทหนัก ตามมาตรา 263 ให้ลงโทษตามมาตรา 252เป็นบทหนัก ตามมาตรา 263 ให้ลงโทษตามมาตรา 251 กระทงเดียวจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 3 ปี 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78คงจำคุก 1 ปี 10 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน และความผิดฐานปลอมเอกสารราชการเป็นความผิดต่างกรรมกัน ต้องเรียงกระทงลงโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นเห็นว่าจากมูลคดีที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า จำเลยปลอมหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุมซึ่งเป็นเอกสารราชการ และยังได้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีแล้วประทับดวงตราปลอมดังกล่าวลงในหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุมที่ปลอมขึ้นเช่นกันดังกล่าวนั้น พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวก็ด้วยมีเจตนาที่จะปลอมหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุมทั้งฉบับให้สำเร็จบริบูรณ์เท่านั้น กรณีหาได้มีการกระทำอื่นใดอีกดังเช่นที่โจทก์ฎีกาไม่ ฉะนั้น การกระทำของจำเลย จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share