คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1891/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ … (2) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 เว้นแต่ในกรณีที่ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี และมาตรา 122 บัญญัติว่า ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค และอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป ตามบทกฎหมายดังกล่าวคงมีความหมายว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้วย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน และคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวได้เท่านั้น สำหรับการฎีกานั้น พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 บัญญัติว่า คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 ซึ่งมีความหมายว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ด้วยเช่นกรณีอุทธรณ์
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันพิพากษา คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวแก่สายลับผู้ล่อซื้อจำนวน 3 เม็ด ราคาเม็ดละ 80 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 89, ป.อ. มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์แล้ว เห็นว่า หากจำเลยได้รับการฝึกอบรมสักระยะหนึ่งอาจจะทำให้นิสัยและความประพฤติจำเลยดีขึ้น และเพื่อให้จำเลยมีโอกาสฝึกหัดวิชาชีพอันจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยต่อไปในอนาคต อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันนี้
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์อนุญาตให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาผู้ทำการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ … (2) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 เว้นแต่ในกรณีที่ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี และมาตรา 122 บัญญัติว่า ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคและอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป ตามบทกฎหมายดังกล่าวคงมีความหมายว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน และคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวได้เท่านั้น สำหรับการฎีกานั้น พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 บัญญัติว่าคดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 ซึ่งมีความหมายว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้นย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ด้วยเช่นกรณีอุทธรณ์
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันพิพากษาตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อจำเลยอุทธรณ์ขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 124 นั้น คดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ด้วย เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าวได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยโดยผู้พิพากษาผู้ทำการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย.

Share