คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5964/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินรายได้ฌาปนสถานที่จำเลยเบียดบังไม่ได้ส่งกรมตำรวจตามที่โจทก์กล่าวหา เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ใช่เงินรายได้ของแผ่นดิน และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147 ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการหรือรักษา แต่เมื่อเงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวในคดีนี้เป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการต่อกรมตำรวจเท่านั้น มิใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษา จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ปรากฏว่าผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2528 แต่ ท. เพิ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองสวัสดิการกรมตำรวจ ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 การร้องทุกข์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่รับคำสั่งจึงเกิน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีจึงขาดอายุความแม้จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งหัวหน้าฌาปนสถานและสุสาน กรมตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่รับเงินรายได้ เงินค่าบำรุงและค่าบริการต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลประโยชน์หรือลูกจ้างชั่วคราวของฌาปนสถานและสุสานกรมตำรวจ หรือเจ้าภาพงานศพแล้วต้องนำเงินที่ได้รับตามหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ลงบัญชีเงินสดและนำส่งกองสวัสดิการ กรมตำรวจแต่ได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวตามฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 33 กรรม จำคุกกระทงละ 5 ปี ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดรวมจำคุก 165 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นพนักงานตรวจเงินแผ่นดินและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 เหลือโทษจำคุก 110 ปี แต่คงให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า พนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบบัญชีการเงินฌาปนสถาน กรมตำรวจวัดตรีทศเทพพบว่าระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2520 ถึงวันที่14 กันยายน 2524 เงินฌาปนสถานและสุสานที่วัดตรีทศเทพขาดบัญชีไปเป็นเงิน 7,810 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยเป็นค่าบำรุงสุสาน 15 ราย รายละ 350 บาท เป็นเงิน 5,250 บาทค่าบริการไฟฟ้าฉายภาพยนตร์ 1 ราย เป็นเงิน 350 บาทค่าทำบุญเลี้ยงพระ 17 ราย รายละ 30 บาท เป็นเงิน 510 บาทรวมเป็นเงิน 6,110 บาท และอยู่ในความรับผิดชอบของจ่าสิบตำรวจบุญชู เอี่ยมระเบียบ 1,700 บาท ตามเอกสารหมาย จ.21มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้รับเงินตามฟ้องไว้และไม่ได้นำส่งกรมตำรวจจริงหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยรับเงินดังกล่าวไว้และไม่ได้นำส่งกรมตำรวจจริง
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ข้อที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากพันตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล และนางมยุรีว่าเงินรายได้ฌาปนสถานที่จำเลยไม่ได้ส่งกรมตำรวจตามที่โจทก์กล่าวหาทั้งหมดนี้เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ใช่เงินรายได้ของแผ่นดิน แต่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่นต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาแต่ในคดีนี้เงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวเป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการต่อกรมตำรวจเท่านั้น หาใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาแต่อย่างใดไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้จึงจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ไม่ได้ แต่ศาลฎีกามีความเห็นต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่ความผิดในมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีนี้ได้ความว่าผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2528 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1แต่พันตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณฑ์สกุล เพิ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองสวัสดิการ กรมตำรวจ ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.1 การร้องทุกข์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่รับคำสั่งจึงเกิน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีจึงขาดอายุความแม้จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาได้เอง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share