คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5287/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมิใช่ผู้ออกใบตราส่งและไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างทางหรือเมื่อเรือมาถึงท่าเรือปลายทางแล้ว การเกี่ยวข้องของจำเลยเพียงเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งที่อยู่ต่างประเทศและไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย โดยจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือผู้ขนส่งให้ผู้รับตราส่งทราบและให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งไปตราส่งไปเปลี่ยนเป็นใบปล่อยสินค้า จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าและติดต่อกรมศุลกากรเพื่อเปิดระวางเรือ แจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อให้นำเรือเข้าเทียบท่าเรือปลายทาง และแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจคนที่มากับเรือ ซึ่งการเหล่านี้มิใช่การขนส่ง แต่เป็นงานเกี่ยวกับเอกสารหรือการติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของเรือหรือบริษัทผู้ขนส่งมิได้กระทำโดยตนเอง หากแต่ได้มอบหมายให้จำเลยทำแทนเท่านั้นการกระทำต่าง ๆ ดังกล่าวของจำเลยจึงมิใช่ลักษณะการร่วมเป็นผู้ขนส่งสินค้าหรือเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะยกมาปรับแก่คดีรับขนของทางทะเลในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 609 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 4 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความชำรุดเสียหายของสินค้าที่ขนส่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาชีพรับขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นทางค้าปกติ โดยร่วมกับบริษัทขนส่งที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้นำสินค้ามาเอาประกันภัยทางทะเลไว้แก่โจทก์ ผู้ขายได้รับเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อผ่านธนาคารแล้ว ผู้ขายได้โอนใบตราส่งพร้อมใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรลุหีบห่อแก่ผู้ซื้อ เมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าเดินทางมาถึงท่่าเรือกรุงเทพมหานคร ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งไปรับสินค้าจากการท่าเรือประเทศไทย ปรากฎว่าสินค้าชำรุดเสียหายบางส่วน ผู้ซื้อได้เรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสินค้าที่ชำรุดเสียหายดังกล่าว โจทก์ชำระให้ผู้ซื้อแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิ บริษัทผู้ขนส่งไม่มีสาขาในประเทศไทย จำเลยได้ร่วมกับบริษัทดังกล่าวในกิจการขนส่งในประเทศไทย เช่น แจ้งกำหนดวันที่เรือจะถึงกรุงเทพมหานครแก่ผู้รับสินค้า ยื่นคำร้องและดำเนินการที่กรมเจ้าท่ายื่นคำร้องและดำเนินที่กรมศุลกากร ที่กองตรวจคนเข้าเมือง และที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตรวจในเรือค้ำประกันความเสียหายต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และออกใบสั่งปล่อยสินค้าเป็นต้น จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 382,496.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 375,679 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือสินค้าในประเทศและต่างประเทศ จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทไชน่า โอเชี่ยน ชิปปิ้งคัมปะนี เจ้าของเรือไฮเมน และบริษัทไชน่าแนชชั่นแนลฟอรีนเทรดทรานสปอร์ตเตชั่น คอร์ปอเรชั่น เจ้าของเรือฟาร์อิสต์ไพล็อต ซึ่งใช้เรือดังกล่าวขนส่งสินค้าพิพาทจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มายังกรุงเทพมหานครเท่านั้นโดยจำเลยช่วยอำนวยความสะดวกแก่พนักงานประจำเรือของบริษัททั้งสองเพื่อให้การส่งมอบสินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งรับอารักขาสินค้าไว้แทนผู้รับตราส่งเป็นไปโดยความเรียบร้อยจำเลยหาได้เป็นผู้ขนส่งหรือร่วมขนส่งกับบริษัททั้งสองนั้นไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 375,679 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์150,271.60 บาท ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้เข้าร่วมขนส่งหรือเป็นผู้ขนส่งหลายทอดอันจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ปรากฎว่าคดีนี้เป็นคดีที่่่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทไชน่า โอเชี่ยนชิปปิ้ง คัมปะนี เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายการแรกจากเมืองซินเกียวมากรุงเทพมหานคร โดยบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ออกใบตราส่งเอง และบริษัทไชน่าแนชชั่นแนลฟอรีนเทรด ทรานสปอร์ตเตชั่น คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ขนส่งสินค้าอีกรายการหนึ่งจากเมืองเซี่ยงไฮ้มายังกรุงเทพมหานครโดยบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ออกใบตราส่งเองเช่นกัน เห็นว่าจำเลยมิใช่ผู้ออกใบตราส่ง ทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งสินค้าทั้งสองรายการนี้ ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างทางหรือเมื่อเรือมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้ว การเกี่ยวข้องของจำเลยเพียงเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งทั้งสองรายที่อยู่ต่างประเทศและไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยโดยจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือผู้ขนส่งให้ผู้รับตราส่งทราบ และให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งไปเปลี่ยนเป็นใบปล่อยสินค้า จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าและติดต่อกรมศุลกากรเพื่อเปิดระวางเรือ แจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อให้นำเรือเข้าเทียบท่ากรุงเทพมหานคร และแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจคนที่มากับเรือ ซึ่งการเหล่านี้มิใช่การขนส่ง แต่เป็นงานเกี่ยวกับเอกสารหรือการติดต่อกับบุคคลต่าง ๆซึ่งเจ้าของเรือหรือบริษัทผู้ขนส่งมิได้กระทำโดยตนเอง หากแต่ได้มอบหมายให้จำเลยทำแทนเท่านั้น การกระทำต่าง ๆ ที่กล่าวมาของจำเลยจึงมิใช่ลักษณะการร่วมเป็นผู้ขนส่งสินค้ารายพิพาทนี้หรือเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 618 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะยกมาปรับแก่คดีรับขนของทางทะเลในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับด้วยการนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 84 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจกท์

Share