คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 บิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3ผู้เยาว์ได้จำเลยที่ 3 เบิกความในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 จะสร้างปั๊มน้ำมันจึงจำต้องจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3เพื่อหาเงินมาลงทุน เมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวไปประกันเงินที่ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นบรรลุนิติภาวะแล้วก็ยังเข้าทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชี และทำบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นครั้งที่ 2ต่อโจทก์ เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อีก แสดงว่าจำเลยที่ 3รู้ว่าห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 เป็นกิจการที่จำเลยที่ 2 และ อ.บิดามารดาของจำเลยที่ 3 ร่วมกันประกอบธุรกิจโดยตรง ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 แม้ อ. มารดาจำเลยที่ 3 จะร่วมลงชื่อกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตามแต่ อ. ก็เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ด้วยคนหนึ่ง ทั้งสัญญาที่อ. ร่วมลงนามก็ไม่มีการกระทำนอกเหนือไปจากคำสั่งอนุญาตของศาลการกระทำของ อ. ไม่ทำให้นิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 3 ต้องเสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน7,251,010.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน6,611,702.19 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 3 ไถ่ถอนที่ดินที่จำนองโดยชำระหนี้ดังกล่าว หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระให้นำทรัพย์สินซึ่งจำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เงินตามฟ้องจริง จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการทำสัญญาบัญชีเดินสะพัด ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หรือกู้ยืมเงิน การที่หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินกับโจทก์จึงเป็นการทำนอกขอบวัตถุประสงค์และโดยปราศจากอำนาจ อีกทั้งเงินที่ได้จากการกู้ยืมจากโจทก์มิได้ใช้ในกิจการของห้างจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดฉะนั้นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินตามฟ้องโจทก์ทุกฉบับจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สัญญาบัญชีเดินสะพัดมิได้เลิกในวันที่ 22 ธันวาคม 2530ตามฟ้องโจทก์ แต่ได้เลิกกันในวันที่ 14 กันยายน 2528 หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันแล้วในระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2528จนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 273,600 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2ขอหักหนี้จำนวน 273,600 บาท มาในคำให้การนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 และนางเอื้อมพร ทรงวุฒิ ขณะทำสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2525, 28 เมษายน 2526 และ 9 ธันวาคม 2525เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9, 10 และ 11 นั้น จำเลยที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ สัญญาค้ำประกันทั้งสามฉบับดังกล่าวจำเลยที่ 2 และนางเอื้อมพร บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาค้ำประกันทั้งสามฉบับจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2792,2793 และ 2794 ตำบลปาเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์จำเลยที่ 3 มิได้ทำสัญญาจำนองที่ดิน สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และนางเอื้อมพรผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3เป็นผู้ทำสัญญาแทน โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 จริง โดยสัญญาดังกล่าวมีความว่าเป็นการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เงินลงวันที่18 มกราคม 2528 เป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท โดยสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความใดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่จำเลยที่ 3 หากว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองแล้ว ก็ได้ไม่เกินจำนวนเงินที่เอาจำนองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเป็นต้นไป ขอศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ชำระหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ไม่ทบต้นนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,338,050.43 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 3,655,855 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,144,924.52 บาทนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 และอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม2529 และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดด้วยเป็นเงิน 2,000,000บาท หากจำเลยที่ 3 ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองให้ชำระเงินเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดแต่ไม่เกิน 7,000,000 บาท ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือไถ่ถอนจำนองดังกล่าวให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 139/2525 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะนั้นทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3ตามโฉนดเลขที่ 2792, 2793 และ 2794 ตำบลปาเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ แทนจำเลยที่ 3 บุตรผู้เยาว์ได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวไปประกันเงินที่จำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์ ซึ่งตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุตรดิตถ์ ปรากฏว่าห้างจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ค้าผลิตภัณฑ์น้ำมันมีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คนคือจำเลยที่ 2 และนางเอื้อมพร ทรงวุฒิซึ่งเป็นบิดาและมารดาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 จึงเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำเลยที่ 3เบิกความไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 139/2525 ของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะสร้างปั๊มน้ำมัน จึงจำเป็นต้องจำนองที่ดิน3 แปลง ของจำเลยที่ 3 เพื่อหาเงินมาลงทุน แม้ขณะเบิกความจำเลยที่ 3ยังเป็นผู้เยาว์แต่มีอายุ 19 ปีแล้ว กำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการค้า จึงน่าเชื่อว่ารู้และเข้าใจข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้ดีนอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 3 บรรลุนิติภาวะแล้วก็ยังเข้าทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีและทำบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528ต่อโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองอีกด้วยอันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 3 รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นกิจการที่จำเลยที่ 2 และนางเอื้อมพรบิดามารดาของจำเลยที่ 3 ร่วมกันประกอบธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันโดยตรง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 139/2525 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าการที่นางเอื้อมพรมารดาจำเลยที่ 3 ลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 3ในหนังสือสัญญาจำนองและหนังสือสัญญาขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1โดยมิได้รับอนุญาตให้ทำนิติกรรมจากศาลจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 นั้นเห็นว่า กรณีนี้จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตจากศาลให้นำที่ดินของจำเลยที่ 3 ไปจำนองแล้ว ทั้งในการจำนองที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2ก็ลงนามแทนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่แล้วแม้นางเอื้อมพรมารดาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ได้ แต่นางเอื้อมพรก็เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ด้วยคนหนึ่งทั้งสัญญาที่นางเอื้อมพรร่วมลงนามก็ไม่มีการกระทำนอกเหนือไปจากคำสั่งอนุญาตของศาล การกระทำของนางเอื้อมพรดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 3 ต้องเสียไปดังจำเลยที่ 3 กล่าวอ้าง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share