คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 จอดรถบรรทุกซึ่งเพลาขาดไว้ที่ไหล่ถนน โดยมีส่วนท้ายของรถล้ำเข้าไปในช่องทางจราจรประมาณ 70 เซนติเมตร แล้วจำเลยที่ 1 ออกไปโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้สัญญาณใด ๆ ว่ามีรถจอดล้ำอยู่บนถนนดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ให้พ้นภยันตรายจากสิ่งกีดขวางบนถนน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายชนท้ายรถบรรทุกคันดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 422
จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ขณะเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 แม้จะมิใช่เจ้าของรถคันเกิดเหตุหรือเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวโดยเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) และมาตรา 1087 อยู่แล้ว ดังนั้นแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นมาในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นต้องรับผิด และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นด้วยโดยไม่จำกัดจำนวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าเสียหายฐานละเมิด 542,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 442,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 335,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายเลื่อน ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าก่อนเกิดเหตุรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพลาขาด จำเลยที่ 1 จึงจอดรถไว้ที่ไหล่ถนน โดยมีส่วนท้ายของรถล้ำเข้าไปในช่องทางจราจรประมาณ 70 เซนติเมตร แล้วจำเลยที่ 1 ออกไปโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้สัญญาณใด ๆ ว่ามีรถจอดล้ำอยู่บนถนนดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ให้พ้นภยันตรายจากสิ่งกีดขวางบนถนน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายชนท้ายรถบรรทุกคันดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 422
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อโจทก์ขณะเป็นลูกจ้างและในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีภัณฑ์นครศรีธรรมราช ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น แม้ในฐานะส่วนตัวจะมิใช่เป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุหรือเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีภัณฑ์นครศรีธรรมราชโดยเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) และมาตรา 1087 อยู่แล้ว ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นมาในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีภัณฑ์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นต้องรับผิด และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนด้วยโดยไม่จำกัดจำนวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share