คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตคลองน้ำดำอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งแม้ปัจจุบันคลองน้ำดำมีสภาพตื้นเขินโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติแต่เมื่อไม่มีการเพิกถอนก็ยังเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) และเป็นที่ดินของรัฐ จึงต้องห้ามมิให้บุคลลใดเข้าไปยึดถือครอบครองตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยการถมที่ดินในคลองน้ำดำเป็นการกระทำแก่ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันจึงเป็นความผิดตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันมา จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองคลองน้ำดำ บริเวณถนนบ้านนา – บ้านน้ำเกลี้ยง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของนายอำเภอบ้านนาเดิม โดยจำเลยถมดินรุกล้ำเข้าไปในบริเวณลำคลองน้ำดำดังกล่าว เนื้อที่ 2 งาน 49 ตารางวา โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง จำคุก 4 เดือน ปรับ 2,000 บาท ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5234 ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทิศเหนือจดคลองน้ำดำ โดยซื้อมาจากนายเดือน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2545 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยถมดินด้านทิศเหนือในส่วนที่จดคลองน้ำดำออกไปจากแนวเขตโฉนดที่ดินของจำเลยซึ่งก็คือที่ดินพิพาท มีเนื้อที่ 2 งาน 49 ตารางวา ตามแผนที่เกิดเหตุ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นอกจากโจทก์มีนายนันธวัช ซึ่งขณะนั้นเป็นปลัดอำเภอบ้านนาเดิม นายพงษ์นิตย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นกำนันตำบลบ้านนาอันเป็นผู้ปกครองท้องที่เกิดเหตุ และนายจเร ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านนา เบิกความเป็นพยานโจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผล ทั้งยังเป็นฎีกาที่มีการอนุญาตให้ ฎีกาในปัญหาอื่นที่มิใช่ปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งดังที่จำเลยนำสืบปฏิเสธแล้ว โจทก์ยังมีนายเดือนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ที่จำเลยถมดินในส่วนที่ยื่นออกไปทางด้านทิศเหนือและอยู่ในเขตคลองน้ำดำ โดยนายเดือนเคยห้ามจำเลยไม่ให้ถมดิน เมื่อนายเดือนไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำหรือใส่ร้ายจำเลยซึ่งเป็นญาติกับนายเดือนให้ต้องได้รับโทษ คำเบิกความของนายเดือนมีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อนำไปฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตคลองน้ำดำแม้ปัจจุบันคลองน้ำดำมีสภาพตื้นเขินโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติ แต่เมื่อไม่มีการเพิกถอนก็ยังเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) และเป็นที่ดินของรัฐ จึงต้องห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยการถมดินในคลองน้ำดำเป็นการกระทำแก่ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันจึงเป็นความผิดตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share