คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5759/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยฉบับแรกในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วเครื่องบินมีข้อความว่า “เริ่มต้นของสัญญานี้ ท่านไม่มีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินไปกลับและจากบ้าน อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาฉบับ1 ปีเต็ม ได้ตกลงกัน ปี 2539 ท่านมีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดในการเดินทางแบบเที่ยวเดียว จำนวน 4 ใบ จากภูเก็ตไปที่ใด ๆ สำหรับท่านและครอบครัวของท่านทันที นอกจากนั้นค่าธรรมเนียมในการขนย้ายทรัพย์สินของท่านไปภูเก็ต และจากภูเก็ตไปที่อื่นจะได้รับการชดใช้โดยรีสอร์ทในวงเงินสูงสุดเท่ากับเงินเดือนที่ท่านได้รับ 1 เดือน” โดยสัญญาจ้างฉบับแรกนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 มีระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่8 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ต่อมาจึงมีการทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 ขึ้นก่อนสัญญาจ้างฉบับแรกครบกำหนด โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่1 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 มีข้อความในตอนแรกว่า “ตามสัญญาจ้างของเรากับท่านฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2538และอาศัยการตกลงด้วยวาจาโดยการอนุมัติของไคจ์แอนดรีเช่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ข้าพเจ้ามีความยินดีต่อสัญญาจ้างให้ท่านใหม่อีก 1 ปี” ข้อความในสัญญาจ้างฉบับหลังดังกล่าวย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างฉบับแรกเมื่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อมีกำหนด 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างฉบับแรก ดังนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรก โดยไม่จำต้องระบุสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ไว้ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 อีก และสิทธิของโจทก์ดังกล่าวจะลบล้างได้ก็โดยคู่กรณีตกลงกันยกเลิกเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 มีการยกเลิกสิทธิเกี่ยวกับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระของโจทก์แต่อย่างใด จึงต้องถือว่าข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวตามสัญญาจ้างฉบับแรก ยังคงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อไป แม้ว่าสัญญาจ้างฉบับแรกจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 ให้ คำนิยามคำว่า นายจ้างในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 เมื่อ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไปและมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ แต่กิจการใดอันตัวแทนได้กระทำ ไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำของตัวการ จำเลยที่ 1ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจประเภทโรงแรมชื่อโรงแรมกมลา เบย์ เทอเรช รีสอร์ท มีจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการทั่วไป โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่มีความผิด จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน เป็นเงิน 125,000 บาท ตามสัญญาจ้าง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าขนย้ายสัมภาระไปกลับเป็นเงิน 160,868 บาท ค่าธรรมเนียมต่อวีซ่า 2,200 บาท ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 67,623 บาทและการเลิกจ้างของจำเลยทั้งสองไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินรวม 725,691 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาจ้างไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าขนย้ายสัมภาระไปกลับสัญญาจ้างท้ายฟ้องบางส่วนปลอม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องตามฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 กระทำการภายในขอบอำนาจไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้เงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 125,000 บาท ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระเป็นเงิน 280,868 บาทค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 67,623 บาท ค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตเข้าประเทศเป็นเงิน 2,200 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์โดยให้บังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน หากไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้จึงให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจโรงแรมใช้ชื่อว่า โรงแรมกมลา เบย์ เทอเรช รีสอร์ทมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไป โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป โดยจำเลยที่ 1ทำสัญญาจ้างโจทก์ 2 ฉบับ ปรากฏตามสัญญาว่าจ้างทำงานเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2537 ตามเอกสารหมาย จ.6
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระตามฟ้องหรือไม่ เพียงใดซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่า เมื่อสัญญาจ้างฉบับเอกสารหมาย จ.1 สิ้นสุดลง ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ก็สิ้นสุดลงไปด้วยการที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ขึ้นใหม่ โดยไม่มีข้อความส่วนใดระบุว่าโจทก์และครอบครัวมีสิทธิได้รับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระจึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีความประสงค์ที่จะให้ข้อความดังกล่าวมีผลผูกพันบังคับกันได้ต่อไปเห็นว่า สัญญาจ้างเอกสารหมายจ.1 ในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วเครื่องบินซึ่งมีข้อความว่า”เริ่มต้นของสัญญานี้ ท่านไม่มีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินไปกลับและจากบ้าน อย่างไรก็ดี เมื่อสัญญาฉบับ 1 ปีเต็ม ได้ตกลงกันปี 2539 ท่านมีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดในการเดินทางแบบเที่ยวเดียว จำนวน 4 ใบ จากภูเก็ตไปที่ใด ๆ สำหรับท่านและครอบครัวของท่านทันที นอกจากนั้นค่าธรรมเนียมในการขนย้ายทรัพย์สินของท่านไปภูเก็ต และจากภูเก็ตไปที่อื่น จะได้รับการชดใช้โดยรีสอร์ทในวงเงินสูงสุดเท่ากับเงินเดือนที่ท่านได้รับ1 เดือน” โดยสัญญาจ้างฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538มีระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2538 ต่อมาจึงมีการทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 ขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2538 ก่อนสัญญาจ้างฉบับแรกครบกำหนด มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งสัญญาจ้างฉบับหลังนี้มีข้อความในตอนแรกว่า “ตามสัญญาจ้างของเรากับท่านฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2538 และอาศัยการตกลงด้วยวาจาโดยการอนุมัติของไคจ์ แอนดรีเช่น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538ข้าพเจ้ามีความยินดีต่อสัญญาจ้างให้ท่านใหม่อีก 1 ปี” ข้อความดังกล่าวย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าการทำสัญญาจ้างเอกสารหมายจ.2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ข้างต้นเมื่อปรากฏว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อมีกำหนด 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1โดยไม่จำต้องระบุสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ไว้ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 อีก และสิทธิของโจทก์ดังกล่าวจะลบล้างได้ก็โดยคู่กรณีตกลงกันยกเลิกเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 มีการยกเลิกสิทธิเกี่ยวกับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระของโจทก์แต่อย่างใด จึงต้องถือว่าข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 ยังคงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อไป แม้ว่าสัญญาจ้างฉบับแรกตามเอกสารหมาย จ.1 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระนั้นชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่พิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนของค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระเป็นเงิน 280,868 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกเป็นเงิน 155,868 บาท เนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดนั้นเห็นว่า จำนวนเงินดังกล่าวพิมพ์ผิดพลาดจริงแต่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก,246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ในข้อนี้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5ให้คำนิยามคำว่า นายจ้างในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ว่า นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทน ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่าผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไปและมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนตามกฎหมายประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 บัญญัติว่า”ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอกโดยอนุโลม” และบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน มาตรา 820 บัญญัติว่า “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน” ซึ่งมีความหมายว่า กิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำของตัวการ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ไม่ต้องผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ด้วย ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799-1800/2539 ระหว่าง นายพรประเสริฐหรือสุธาโชติสุดเสน่ห์ โจทก์ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยกับพวก จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระเป็นเงิน 155,868 บาทโดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share