คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14273/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการครูในพื้นที่ ให้คำรับรองอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนในการที่ ก. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวขอมีบัตรประจำตัวประชาชนว่า ก. คือ พ. ซึ่งความจริงแล้ว ก. มิใช่บุคคลคนเดียวกับ พ. โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการที่จำเลยที่ 1 และ ก. แจ้งให้แจ้งหน้าที่ดังกล่าวจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและร่วมแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. อย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางกู่ซึ่งต่อมาตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการ (บัตรประจำตัวประชาชน) ปลอม เป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นครูโรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาว อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ให้คำรับรองต่อนายรังษี ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียน อำเภออมก๋อย และนายสุภัทร เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภออมก๋อย ซึ่งเป็นผู้รับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของนางกู่ว่า นางกู่คือนางสาวไพวรรณ์อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วนางกู่มิใช่บุคคลคนเดียวกับนางสาวไพวรรณ์ สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และนางกู่ กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โจทก์มีนายรังษีและนายสุภัทรมาเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุนางกู่มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน นายรังษีเห็นว่านางกู่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกเมื่ออายุเกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงทำการเปรียบเทียบปรับ นางกู่นำเพียงสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดง นายรังษีขอตรวจสอบสูติบัตรของนางกู่ แต่นางกู่ไม่มีหลักฐาน นายรังษีจึงบอกให้นางกู่ไปนำตัวบิดา มารดา หรือเจ้าบ้านหรือบุคคลที่เป็นที่น่านับถือทำการรับรองว่านางกู่คือนางสาวไพวรรณ์จริง นางกู่ได้นำจำเลยทั้งสองมาให้คำรับรอง นายรังษีและนายสุภัทรร่วมกันสอบถามจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองรับรองว่านางกู่คือนางสาวไพวรรณ์ซึ่งเป็นบุตรของนายมอนกับนางแสงหล้า หลังจากตรวจสอบหลักฐานเสร็จ นายรังษีออกบัตรประจำตัวประชาชนให้นางกู่ไปในวันเดียวกัน และมีนายมอนกับนางแสงหล้าเบิกความยืนยันว่า พยานทั้งสองรู้จักกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นครูที่โรงเรียนห้วยน้ำขาว ดังนี้ นายรังษีและนายสุภัทรต่างเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็นมา ส่วนนายมอน จำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า นายมอนเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกับตนเท่ากับยอมรับว่ารู้จักกับพยานโจทก์ดังกล่าวด้วย เมื่อนางกู่ไปนำจำเลยที่ 2 มาให้คำรับรองต่อนายรังษีและนายสุภัทร จำเลยที่ 2 ย่อมสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้โดยง่ายว่านางกู่คือนางสาวไพวรรณ์ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของตนและเป็นบุตรของนายมอนกับนางแสงหล้าจริงหรือไม่ โดยการสอบถามประวัติส่วนตัวจากนางกู่เอง หรือสอบถามไปยังนายมอนอีกทางหนึ่งด้วย พฤติการณ์จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้คำรับรองอันเป็นเท็จต่อนายรังษีและนายสุภัทรโดยรู้อยู่แล้วว่านางกู่มิใช่นางสาวไพวรรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนากระทำความผิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันมาขอร้องให้จำเลยที่ 2 รับรองลูกศิษย์ของจำเลยที่ 2 ชื่อนางสาวไพวรรณ์ โดยจำเลยที่ 1 ยืนยันว่านางกู่คือนางสาวไพวรรณ์ และมีทะเบียนบ้านฉบับจริงมาแสดงด้วย จำเลยที่ 2 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดโดยเข้าใจว่านางกู่ที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 รับรองคือนางสาวรำไพ น้องสาวของนางสาวไพวรรณ์ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของตนนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครูในพื้นที่ที่มีบุคคลต่างด้าวจำนวนมาก ย่อมทราบดีว่าการรับรองบุคคลในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติเพียงใด และต้องทราบด้วยว่าการรับรองบุคคลในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเท็จมีความผิดซึ่งมีโทษถึงจำคุก โดยพฤติการณ์และวิสัยของจำเลยที่ 2 ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะยอมรับรองบุคคลให้เพียงเพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันมาพูดขอร้องเท่านั้น นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ก็มิได้นำจำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยที่ 2 อ้างจริงหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพต่อศาลแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องระแวงว่าจะซัดทอดความผิดให้จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 และนางกู่แจ้งให้นายรังษีและนายสุภัทรซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและร่วมแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อนายรังษีและนายสุภัทรในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของนางกู่อย่างไร ทั้งนายสุภัทรเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 2 อ่านข้อความในคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว จำเลยที่ 2 เชื่อว่าเป็นลูกศิษย์จึงให้การรับรอง เมื่อให้การรับรองดังกล่าวแล้วจึงออกจากที่ว่าการอำเภอแล้วกลับบ้านไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น และปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตร ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 86 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตร ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share