คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาปล้นทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็ตามแต่การกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3คนขึ้นไปและกระทำการอันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ซึ่งเป็นการได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธโดยนำสืบว่าได้ทรัพย์ไปจากผู้เสียหายจริงแต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสามนำสืบพยานเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ในสาระสำคัญอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเห็นได้ว่าโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในข้อหาฉ้อโกง ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานฉ้อโกงไม่ได้เพราะขัดต่อมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้นพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติว่า ‘ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกและรับของโจร หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญเว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้’ ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายและโดยการหลอกลวงนั้น จำเลยทั้งสามได้ทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องไปอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงก็ตาม แต่การกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และกระทำการอันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ซึ่งเป็นการได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง และคดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ และนำสืบว่าได้ทรัพย์ไปจากผู้เสียหายจริง แต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกงตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ดังกล่าวทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share