คำวินิจฉัยที่ 7/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ทายาทของผู้ตายยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้จัดการมรดกของผู้ตายทำการเบียดบังทรัพย์มรดกด้วยการจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองแล้วนำไปขายและขายฝากให้แก่บุคคลภายนอก ขอให้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนโอนมรดกที่พิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นได้ทำการสอบสวนสิทธิในที่ดินพิพาทโดยผู้จัดการมรดกให้ถ้อยคำว่าขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกและแบ่งปันให้แก่ทายาทในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับบุคคลภายนอก ดังนั้น คดีจึงมีประเด็นพิพาทเรื่องสิทธิในทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกใช้อำนาจและหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้จัดการมรดกใช้อำนาจและหน้าที่ดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกที่พิพาทถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งหากพิจารณาได้ความว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาท ข้อพิพาทคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๕๙

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดราชบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ นางสาววริดา เชื้อสมุทร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิเชษฐ์ เชื้อสมุทร กับนางประนอม เชื้อสมุทร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือนายนพพล เชื้อสมุทร โดยบิดามารดาของผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนหย่าและนางประนอม เชื้อสมุทร ได้เปลี่ยนคำหน้านามว่า “นางสาว” และใช้ชื่อสกุลว่า “เที่ยงตรง” ต่อมาบิดาของผู้ฟ้องคดีได้ถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดียินยอมให้นายนพพลเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากผู้ฟ้องคดียังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๔/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๔๙๘/๒๕๕๕ แต่งตั้งนายนพพล เชื้อสมุทร เป็นผู้จัดการมรดกของนายพิเชษฐ์ เชื้อสมุทร แต่ปรากฏว่านายนพพลไม่ได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียและทายาทตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ กลับเบียดบังทรัพย์มรดกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๕๗, ๒๐๑๙๑, ๑๑๒๓๗, ๑๑๒๙๐ และ ๑๑๒๙๑ ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ด้วยการจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ตนเองแต่เพียงผู้เดียวแล้วนำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๕๗ ไปจำนอง ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๑๙๑ และเลขที่ ๑๑๒๙๐ ไปขาย และที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๒๓๗ และเลขที่ ๑๑๒๙๑ ไปขายฝากให้แก่บุคคลภายนอก ซึ่งในขณะนั้นผู้ฟ้องคดียังเป็นผู้เยาว์และมารดาของผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอมให้นายนพพลในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมดังกล่าว หรือได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำนิติกรรมตามมาตรา ๑๕๗๔ และมาตรา ๑๖๑๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกคำสั่งรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทั้ง ๕ แปลง ในการโอนมรดก ไถ่ถอนจำนอง จำนอง ขาย ขายฝาก ทรัพย์สินดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดินและระเบียบของกรมที่ดิน คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนนิติกรรมโอนมรดก ไถ่ถอนจำนอง จำนอง ขาย ขายฝาก ที่ดินของนายพิเชษฐ์ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ดินให้กลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพิเชษฐ์ตามเดิม
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นได้ทำการสอบสวนสิทธิในที่ดินทั้ง ๕ แปลง เป็นนิติกรรมประเภทขอโอนมรดก ประเภทไถ่ถอนจากจำนอง จำนอง ขาย และประเภทขายฝากที่ดินมีกำหนดห้าปี โดยนายนพพล เชื้อสมุทร ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าขายทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกและแบ่งปันให้กับทายาทในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ปฏิบัติตามมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎมายที่ดินและระเบียบของกรมที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องพิพาทในการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกับทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการรับจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินจำนวนห้าแปลงของนายพิเชษฐ์ เชื้อสมุทร ตามคำขอจดทะเบียนของนายนพพล เชื้อสมุทร ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยที่ผู้ฟ้องคดีและมารดาของผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ยินยอมให้ทำนิติกรรมหรือได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำนิติกรรม อันเป็นการขัดต่อมาตรา ๑๕๗๔ และมาตรา ๑๖๑๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้มาโดยทางมรดก พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๓๘ (๑) และข้อ ๕๑ ทำให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการขาย ขายฝาก จำนอง และไถ่ถอนจำนอง ในเวลาต่อมาขัดต่อระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่น พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๑๗ และข้อ ๒๐ ระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการขายฝากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๑๒ (๒) และข้อ ๒๔ และระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการจำนองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๒๔ (๒) และข้อ ๔๓ ด้วย เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนนิติกรรมโอนมรดก ไถ่ถอนจำนอง จำนอง ขาย ขายฝาก ที่ดินของนายพิเชษฐ์ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินให้กลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพิเชษฐ์ตามเดิม เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการจดทะเบียนนิติกรรมข้างต้นเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๗๑ และมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับระเบียบกรมที่ดินข้างต้นเพื่อการจดทะเบียนโอนมรดก ไถ่ถอนจำนอง จำนอง ขาย ขายฝาก ทรัพย์สินดังกล่าว เมื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวมีผลในการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว ฉะนั้น การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดราชบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าการจดทะเบียนและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งห้าแปลงของนายพิเชษฐ์ในคดีนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนนิติกรรมโอนรับมรดก ไถ่ถอนจำนอง จำนอง ขาย ขายฝากที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวกลับเป็นของนายพิเชษฐ์ โดยอ้างว่านิติกรรมทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้มีคำสั่งให้รับจดทะเบียนเกี่ยวกับนิติกรรมโอนรับมรดกและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีในขณะที่เป็นผู้เยาว์ไม่ได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบของกรมที่ดิน คำสั่งหรือนิติกรรมทางปกครองดังกล่าวจึงเป็นโมฆะก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีบรรยายคำฟ้องได้ความอีกว่า ทรัพย์สินที่เป็นของผู้ฟ้องคดีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับจดทะเบียนให้นายนพพลไปตามฟ้องนั้น ผู้ฟ้องคดีอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้ทำนิติกรรมหรือยินยอมให้ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมแทนผู้ฟ้องคดี หรือผู้จัดการมรดกได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ฟ้องคดีและได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๗๔ ประกอบมาตรา ๑๖๑๑ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่านายนพพล ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิเชษฐ์ไม่มีอำนาจไปจัดการมรดกของนายพิเชษฐ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ฟ้องคดี หรือได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยในประเด็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเสียก่อน จากนั้นจึงจะได้วินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จดทะเบียนนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินให้นายนพพลไปตามฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่อไป ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเนื่องมาจากเรื่องสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นข้อพิพาทในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายนพพลในขณะที่บิดาถึงแก่ความตายผู้ฟ้องคดียังไม่บรรลุนิติภาวะมารดาจึงยินยอมให้นายนพพลเป็นผู้จัดการมรดก ภายหลังศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งแต่งตั้งนายนพพลเป็นผู้จัดการมรดกแล้วได้ทำการเบียดบังทรัพย์มรดกด้วยการจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดิน ๕ แปลงอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองแล้วนำไปขายและขายฝากให้แก่บุคคลภายนอก โดยขณะนั้นผู้ฟ้องคดียังเป็นผู้เยาว์และมารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมดังกล่าว อีกทั้งนายนพพลไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำนิติกรรมแทนผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนนิติกรรมโอนมรดกที่พิพาทให้กลับไปเป็นทรัพย์กองมรดกของบิดาผู้ฟ้องคดีตามเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นได้ทำการสอบสวนสิทธิในที่ดินทั้ง ๕ แปลง โดยนายนพพลให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าขายทรัพย์เพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกและแบ่งปันให้กับทายาทในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีเหตุเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล โดยทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมระหว่างผู้จัดการมรดกกับบุคคลภายนอกซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่ากระทำในขณะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เยาว์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คดีจึงมีประเด็นพิพาทเรื่องสิทธิในทรัพย์มรดกที่นายนพพลในฐานะผู้จัดการมรดกใช้อำนาจและหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้จัดการมรดกใช้อำนาจและหน้าที่ดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกที่พิพาทถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งหากพิจารณาได้ความว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทไม่ตกเป็นของนายนพพลแต่เป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาท ข้อพิพาทคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาววริดา เชื้อสมุทร ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share