คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดได้ในราคา 131,000,000 บาท จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ดำเนินการให้เพราะว่าศาลมีคำสั่งให้งดการขายไว้แล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จึงรับเงินค่าซื้อทรัพย์คืน95 เปอร์เซ็นต์เป็นการชั่วคราวและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบเพื่อรักษาสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์ที่ประสงค์จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าการขายทอดตลาดชอบแล้วจึงมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อทรัพย์ แต่ผู้ซื้อทรัพย์กลับไม่ยอมนำเงินค่าซื้อทรัพย์ที่รับคืนไปมาวางให้ครบเพื่อดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนทั้งยังแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ส่งอุทธรณ์ไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยทำให้คดียิ่งเนิ่นช้าต่อไป ครั้นศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ หากผู้ซื้อทรัพย์มิได้เจตนาถ่วงเวลาให้ล่าช้าก็ควรนำเงินมาชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมิใช่ยื่นฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้ซื้อทรัพย์ในที่สุดเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ส่อไปในทางประวิงการวางเงินค่าซื้อทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้วาง ผู้ซื้อทรัพย์ก็มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้นำเงินมาวางภายใน 15 วัน แต่ขอขยายเวลาการชำระเงินออกไปอีก3 เดือน แสดงถึงเจตนาประวิงการวางเงินค่าซื้อทรัพย์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งไม่ให้ขยายเวลาการชำระเงินและสั่งริบเงินมัดจำจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตและเป็นคำสั่งที่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดนัด โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 3เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ โจทก์ขายทรัพย์ของจำเลยที่ 1 พอชำระหนี้จึงขอถอนการบังคับคดีที่จะบังคับจากจำเลยที่ 3 ผู้ร้องซึ่งขอเฉลี่ยทรัพย์ได้รับสิทธิตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้สวมสิทธิบังคับคดีต่อจากโจทก์และได้มีการขายทอดตลาดที่ดินจำนวน 4 แปลง ของจำเลยที่ 3 ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 91537, 92891, 97232 และ 92695 พร้อมสิ่งปลูกสร้างผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ประมูลได้ในราคา 131,000,000 บาท เมื่อวันที่ 28มิถุนายน 2536 ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2536 ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม2536 ไม่ดำเนินการให้ตามที่ผู้ซื้อทรัพย์ร้องขอโดยอ้างว่าศาลมีคำสั่งให้งดการขายไว้แล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จึงรับเงินที่วางคืน 95 เปอร์เซ็นต์เป็นการชั่วคราวและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม2536 ศาลชั้นต้นรับเป็นอุทธรณ์ แต่ยังไม่ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินให้ผู้ซื้อทรัพย์ตามคำร้องลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อม ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2537 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาในวันดังกล่าวว่าการขายทอดตลาดเป็นไปตามคำสั่งศาล ทั้งไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงให้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ และนัดพร้อมอีกครั้งหนึ่งเพื่อสอบถามผู้ซื้อทรัพย์เกี่ยวกับอุทธรณ์ที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นไว้ ครั้นถึงวันนัดพร้อมศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 19สิงหาคม 2537 ว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่ไปศาลเพื่อให้ศาลสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่ประสงค์จะให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไปยังศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งปฏิเสธการส่งอุทธรณ์ ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ขอให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ขณะเดียวกันในวันที่ 31 สิงหาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ แต่ปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ที่รับคืนไปมาวาง จึงยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ซื้อทรัพย์ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2538 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538 ครั้นวันที่ 22 มกราคม2539 ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้ซื้อทรัพย์ โดยไม่ปรากฏว่ามีคู่ความคัดค้านหนังสือของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2537 ที่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ซื้อทรัพย์ ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2540 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ผู้ซื้อทรัพย์ฟังเมื่อวันที่ 30พฤษภาคม 2540 ต่อมาในวันที่ 15 กันยายน 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหมายแจ้งให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินส่วนที่ผู้ซื้อทรัพย์รับคืนไปจำนวน 124,450,000 บาท ไปชำระภายใน 15 วัน โดยวิธีปิดหมายซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 ตุลาคม 2540 แต่ผู้ซื้อทรัพย์ขอขยายระยะเวลาชำระเงินออกไปอีก 3 เดือน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลา และริบเงินมัดจำจำนวน 6,550,000 บาทของผู้ซื้อทรัพย์

ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่มีเจตนาประวิงการชำระเงิน แต่เนื่องจากเงินที่ผู้ซื้อทรัพย์รับคืนไปได้ใช้หมุนเวียนในกิจการของผู้ซื้อทรัพย์ ทั้งเงินเป็นจำนวนมากและปัจจุบันการเงินขาดสภาพคล่อง ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่สามารถหาเงินมาชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และได้ขอขยายเวลาการชำระเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีกำหนด 3 เดือนแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้องโดยอ้างว่าผู้ซื้อทรัพย์ประวิงการชำระเงิน การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการไม่ชอบขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ให้ขยายเวลาการชำระเงิน และริบเงินมัดจำจำนวน 6,550,000 บาท และให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดใหม่ โดยให้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ต่อไป

ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ ในวันนัดไต่สวนศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงของทุกฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า กรณีไม่ปรากฏว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งไม่ให้ขยายเวลาการชำระเงินและริบเงินมัดจำจำนวน 6,550,000 บาท จากผู้ซื้อทรัพย์นั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือมีเจตนาทุจริตมิชอบแต่อย่างใด การที่มีคำสั่งไม่ให้ขยายเวลาการชำระเงินนั้นเป็นดุลพินิจโดยสุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้งดไต่สวน และยกคำร้อง

ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์ขยายระยะเวลาชำระเงิน และริบเงินมัดจำจำนวน 6,550,000 บาทของผู้ซื้อทรัพย์ เป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ในเบื้องต้นผู้ซื้อทรัพย์ได้วางเงินเต็มจำนวน แต่ศาลชั้นต้นยังจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้ไม่ได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการขายไว้ก่อน ต่อมา ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ซื้อทรัพย์ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ซื้อทรัพย์จึงยื่นขอรับเงินที่วางคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี 95 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่วาง คงเหลือเป็นเงิน6,550,000 บาท และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น อันถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบเพื่อรักษาสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์ที่ประสงค์จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อย่างไรก็ตามขณะนั้นศาลชั้นต้นยังมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ แต่ได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งตรงตามความประสงค์ของผู้ซื้อทรัพย์ที่มีแต่เริ่มแรก ผู้ซื้อทรัพย์กลับไม่ยอมนำเงินค่าซื้อทรัพย์ที่รับคืนไปมาวางให้ครบเพื่อดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาเป็นของตนให้เป็นที่เรียบร้อย ยิ่งกว่านั้นยังแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอันมีผลทำให้คดียิ่งเนิ่นช้าต่อไป ครั้นศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ หากผู้ซื้อทรัพย์มิได้มีเจตนาถ่วงเวลาให้ล่าช้าออกไป ผู้ซื้อทรัพย์ก็ควรนำเงินมาชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี มิใช่ยื่นฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้ซื้อทรัพย์ ในที่สุดเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ส่อไปในทางเพื่อประวิงการวางเงินค่าซื้อทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้วาง ผู้ซื้อทรัพย์ก็มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้นำเงินมาวางภายในเวลา 15 วันแต่ได้ขอขยายเวลาการชำระเงินออกไปอีก 3 เดือน ย่อมแสดงถึงเจตนาของผู้ซื้อทรัพย์โดยแจ้งชัดที่จะประวิงการวางเงินค่าซื้อทรัพย์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่มีประโยชน์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขยายเวลาให้ เหตุนี้ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งไม่ให้ขยายเวลาการชำระเงินและสั่งริบเงินมัดจำนั้นจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตและเป็นคำสั่งที่ชอบกอปรด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายหาใช่เป็นการสั่งโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี หรือสั่งโดยไม่สุจริตมีอคติของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังข้ออ้างของผู้ซื้อทรัพย์แต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่ศาลล่างทั้งสองงดไต่สวนและยกคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share