แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดเพื่อเรียกเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. คืน เห็นว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น เป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองและเยียวยาความเสียหายให้แก่เอกชนจากการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองหรือบริการสาธารณะแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเป็นพิเศษ แม้จะเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม บทบัญญัตินี้จึงให้สิทธิเฉพาะเอกชนเท่านั้นในการฟ้องขอให้รัฐรับผิด เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จ เงินบำเหน็จ ดำรงชีพ และ ช.ค.บ. ที่ได้รับเกินสิทธิแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่รัฐฟ้องคดีโดยใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่อดีตข้าราชการของตนในฐานะเอกชนคนหนึ่งซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ของคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่เข้าลักษณะคดีพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๕๙
วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ กองทัพบก โจทก์ ยื่นฟ้องร้อยโท สุจริต สุทธสุภา จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.๑๖๓/๒๕๕๘ ความว่า เดิมจำเลยรับราชการในสังกัดมณฑลทหารบกที่ ๓๓ และได้ลาออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด โดยก่อนลาออกจำเลยรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ รวมทั้งเงินบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ เงินบำเหน็จดำรงชีพ ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยโจทก์ได้เบิกจ่ายเงินดังกล่าวจากเงินงบประมาณของโจทก์ผ่านกรมบัญชีกลางด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จำเลยได้กลับเข้ารับราชการเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลขี้เหล็ก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยหวัดเงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘ (๓) โดยจำเลยได้รับเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญและเงินบำเหน็จดำรงชีพเกินสิทธิตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) เกินสิทธิไปตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๐๐,๔๕๓.๗๓ บาท ต่อมากรมบัญชีกลางตรวจพบและแจ้งให้โจทก์ทราบ พร้อมทั้งให้เรียกจำเลยคืนเงินที่รับไปเกินสิทธิส่งคืนคลังและงดจ่ายเงินดังกล่าว โดยมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ได้มีหนังสือถึงจำเลยให้นำเงินที่รับไปเกินสิทธิส่งคืนคลังแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระคืนเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่รับไปเกินสิทธิพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน ๗๒๙,๐๙๙.๗๓ บาท
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยจึงไม่จำต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เนื่องจากจำเลยกับพวกรวม ๙ คน ได้ยื่นฟ้องผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ที่ ๑ กับพวกรวม ๒ คน เกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๙๗/๒๕๕๗ ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่ได้รับฟ้องคดีไว้ก่อนแล้วและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง สังกัดกระทรวงกลาโหม ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) อันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินเพื่อส่งคืนคลัง ดังนั้น โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ฟ้องใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ มิใช่เป็นการฟ้องคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยสืบเนื่องจากโจทก์ได้เคยพิจารณาอนุมัติสั่งจ่ายเบี้ยหวัด บำนาญ และบำเหน็จดำรงชีพแก่จำเลยตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ประกอบกับระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการขอรับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และการเบิกจ่ายเงิน พ.ศ. ๒๕๔๑ และกรมบัญชีกลาง ได้เคยพิจารณาอนุมัติสั่งจ่าย ช.ค.บ. แก่จำเลยตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งล้วนแต่เป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้พิจารณามีคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ไปแล้ว แต่ต่อมากรมบัญชีกลางได้ตรวจพบว่าคำสั่งอนุมัติสั่งจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เนื่องจาก จำเลยกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ อันทำให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. จึงให้มีการระงับจ่ายเงิน และดำเนินการเรียกให้จำเลยส่งคืนเงินที่รับไป โดยไม่มีสิทธิ อันเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งจ่ายเบี้ยหวัด บำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. ตามกฎหมายข้างต้นได้ทำการพิจารณาทบทวนเรื่องทางปกครองเรื่องเดียวกันนั้นอีกครั้งหนึ่ง และมีการพิจารณาตัดสินใจในเนื้อหาของเรื่องนั้นใหม่แตกต่างจากเดิม โดยให้มีผลเป็นการระงับการจ่ายเบี้ยหวัด บำนาญ และ ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขการอนุมัติสั่งจ่ายเบี้ยหวัด บำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยที่ได้เคยกระทำไปแล้วในครั้งก่อนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ หนังสือของกรมบัญชีกลางและหนังสือของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองขึ้นใหม่ในเรื่องนั้น ที่เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งจำเลยในฐานะผู้รับคำสั่งทางปกครองจะต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์หรือไม่เพียงใดนั้น ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้เป็นการเฉพาะอย่างชัดแจ้งแล้วเช่นกัน หาใช่จะนำเอาหลักเกณฑ์เรื่องการติดตามและเอาทรัพย์สินคืน ตามมาตรา ๑๓๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งโดยทั่วไปเป็นเรื่องระหว่างเอกชนด้วยกันมาใช้บังคับแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ฟ้องว่าได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเบี้ยหวัด บำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. ส่งคืนคลัง แต่จำเลยเพิกเฉย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งงดจ่ายเบี้ยหวัด บำนาญ และ ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับ และคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่เคยอนุมัติจ่ายเบี้ยหวัดบำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่เพียงใด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่น ของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลย ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดคืนเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่ได้รับเกินสิทธิไปพร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่กรมบัญชีกลางตรวจพบว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเหตุให้ต้องงดเบี้ยหวัด บำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. และกรมบัญชีกลางได้งดจ่ายเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และเงินช่วยค่าครองชีพ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้แก่จำเลย ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. ๒๔๙๕ ข้อ ๘ (๓) ที่ให้งดเบี้ยหวัดในกรณีที่ทหารผู้นั้นเข้ารับราชการในตำแหน่งซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง (๑) กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด หรือบำนาญไม่มีสิทธิได้รับ ช.ค.บ. ถ้าบุคคลนั้นเข้ารับราชการ หรือกลับเข้ารับราชการ หรือเข้าทำงาน หรือกลับเข้าทำงานสังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น จำเลยจึงต้องคืนเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. ที่ได้รับเกินสิทธิไปแก่โจทก์ เห็นว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น เป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองและเยียวยาความเสียหายให้แก่เอกชนจากการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองหรือบริการสาธารณะแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเป็นพิเศษ แม้จะเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม บทบัญญัตินี้จึงให้สิทธิเฉพาะเอกชนเท่านั้นในการฟ้องขอให้รัฐรับผิด เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินบำนาญ เงินบำเหน็จ เงินบำเหน็จดำรงชีพ และ ช.ค.บ. ที่ได้รับเกินสิทธิแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ รัฐฟ้องคดีโดยใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่อดีตข้าราชการของตนในฐานะเอกชนคนหนึ่งซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ของคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่เข้าลักษณะคดีพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กองทัพบก โจทก์ ร้อยโท สุจริต สุทธสุภา จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ