แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาด แต่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่า ได้รับการจัดสรรให้เข้าทำประโยชน์จากจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แล้ว ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐ ให้การว่า เป็นผู้ครอบครองและได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามเงื่อนไขของกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแต่เข้าทำประโยชน์มิได้เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์อันเป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๕๙
วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดมุกดาหาร
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดมุกดาหารโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นายบุญรอด ภูมุตตะ โจทก์ ยื่นฟ้อง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ นายวิลาวรรณ์ ปัททุม ที่ ๒ นางคำไมล์ อาจวิชัย ที่ ๓ นายสมศักดิ์ อาจวิชัย ที่ ๔ นายนิรัตน์ อาจวิชัย ที่ ๕ นางกาศ ปัททุม ที่ ๖ นายเกี้ยน น้อยทรง ที่ ๗ นางจารุณี อินไชยา ที่ ๘ นายปิดตา น้อยทรง ที่ ๙ นางเปลี่ยนมา น้อยทรง ที่ ๑๐ จำเลย ต่อศาลจังหวัดมุกดาหาร เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๑๒/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๕๓ ตำบลโนนยาง กิ่งอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ ๕๐ ไร่ เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่รัฐอนุญาตและออกใบจองให้แก่ร้อยตำรวจตรี ประเสริฐ เหลืองอร่าม เนื้อที่ ๕๐ ไร่ และในปี ๒๕๐๔ ได้ออกเป็น น.ส. ๓ เลขที่ ๑๕๖ ต่อมาในปี ๒๕๒๖ ร้อยตำรวจตรี ประเสริฐ ได้ยกที่ดินให้โดยเสน่หาแก่จ่าอากาศเอก สุรชาติ เหลืองอร่าม และได้ออกเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๕๓ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๙ ต่อมาในปี ๒๕๓๗ จ่าอากาศเอก สุรชาติ นำที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๕๓ จดทะเบียนจำนองกับโจทก์แล้ว ไม่ไถ่ถอนจำนอง โจทก์จึงฟ้องบังคับจำนองและซื้อที่พิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ แต่เมื่อโจทก์จะเข้าทำประโยชน์จึงทราบว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินของโจทก์เป็นสัดส่วนโดยอ้างว่าได้รับการจัดสรรให้เข้าทำประโยชน์จากจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้มีสิทธิทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ แล้ว การที่จำเลยที่ ๑ นำที่ดินของโจทก์ไปจัดสรรให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ มิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ จำนวน ๙ แปลง และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาท รวมทั้งให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาททั้งเก้าแปลงโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลโพนงาม อำเภอคำชะอี ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี ตำบลดงมอน อำเภอเมืองมุกดาหาร และตำบลโนนยาง ตำบลหนองสูงเหนือ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงเป็นการได้กรรมสิทธิ์มาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยได้จัดสรรให้ราษฎร รวมทั้งจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ เข้าทำประโยชน์ และได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนโจทก์ซื้อที่พิพาทโจทก์ทราบอยู่แล้ว การซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของโจทก์ย่อมเป็นไป โดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่ได้สิทธิในที่พิพาทตามมาตรา ๑๓๓๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐ ให้การว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนดงภูสีฐาน ซึ่งกรมป่าไม้อนุญาตให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าทำกินโดยได้ครอบครองเรื่อยมาร่วมกันเป็นจำนวนหลายร้อยรายตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ ต่อมากรมป่าไม้ได้ยกที่ดินบริเวณดังกล่าวให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดสรรให้แก่ราษฎรที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยปฏิบัติตามขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านการครอบครองที่ดิน และไม่เคยเห็น พันจ่าอากาศเอกสุรชาติ เหลืองอร่าม เข้าทำประโยชน์หรือโต้แย้งการทำประโยชน์หรือคัดค้านการพิสูจน์สิทธิและไม่เคยร้องขอกันส่วนที่ดินแต่อย่างใด โจทก์ทราบตั้งแต่แรกที่รับจำนองว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๕๓ ได้ออกทับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ยังรับจำนองและไม่เคยขอรังวัดสอบเขตที่ดินหรือทำการตรวจสอบก่อนซื้อขาย ในส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ออกไปจากที่ดินของโจทก์นั้นได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้เคยฟ้องขับไล่พันจ่าอากาศเอก สุรชาติ เป็นจำเลยและได้ใช้สิทธิขับไล่จำเลยทั้งสิบในฐานะบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ต่อศาลจังหวัดมุกดาหาร ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๒๖/๒๕๔๖ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ ในคดีนี้ไม่ใช่บริวารของจำเลย ฟ้องของโจทก์ในส่วนเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ จึงเป็นการฟ้องซ้ำ จำเลยทั้งเจ็ดได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปโดยผ่านการพิสูจน์สิทธิว่าได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจนครบเงื่อนไขของกฎหมาย ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ และที่ ๙ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดมุกดาหารพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ หรือไม่ หากผลแห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ แล้ว จึงจะมีผลไปถึงจำเลยที่ ๑ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้กับโจทก์ต่อไปภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อีกทั้งตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ บนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร โจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ นำที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองไปออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ เป็นการไม่ชอบเท่านั้น ดังนั้น ผลตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของ จำเลยที่ ๑ ว่าเป็นการออกคำสั่งหรือกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการที่กำหนดไว้หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอน โดยไม่จำเป็น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ตามคำให้การของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ เท่านั้น ผลของคำพิพากษาย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเทียบเท่ากรมและมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ในที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ในอันที่จะระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เป็นการถาวร จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะที่จะนำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๕๓ โดยเป็นผู้ซื้อที่ดินมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล แต่เมื่อจะเข้าทำประโยชน์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์เป็นสัดส่วนโดยอ้างว่าได้รับการจัดสรรให้เข้าทำประโยชน์จากจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ แล้ว การที่จำเลยที่ ๑ นำที่ดินของโจทก์ไปจัดสรรให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ มิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ จำนวน ๙ แปลง และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาท รวมทั้งให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน จึงชอบด้วยกฎหมาย แล้วจัดสรรให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ เข้าทำประโยชน์และได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์จึงไม่ได้สิทธิในที่พิพาท จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐ ให้การว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ครอบครองและได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปโดยผ่านการพิสูจน์สิทธิว่า ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจนครบเงื่อนไขของกฎหมาย ไม่มีผู้ใดคัดค้าน เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล แต่เข้าทำประโยชน์มิได้เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ อันเป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายบุญรอด ภูมุตตะ โจทก์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ นายวิลาวรรณ์ ปัททุม ที่ ๒ นางคำไมล์ อาจวิชัย ที่ ๓ นายสมศักดิ์ อาจวิชัย ที่ ๔ นายนิรัตน์ อาจวิชัย ที่ ๕ นางกาศ ปัททุม ที่ ๖ นายเกี้ยน น้อยทรง ที่ ๗ นางจารุณี อินไชยา ที่ ๘ นายปิดตา น้อยทรง ที่ ๙ นางเปลี่ยนมา น้อยทรง ที่ ๑๐ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ