แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาทรัพย์สินโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นพนักงานมีหน้าที่ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคง การที่จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสและวิธีการเปิดห้องมั่นคงไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้คนร้ายรื้อค้นพบและนำไปใช้เปิดห้องมั่นคงแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยไปจึงต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงอันเป็นผลโดยตรงต่อเกิดเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 อีกโสตหนึ่งด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 39,626,172.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 37,246,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้า ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 4,259,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด(มหาชน) ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิแทนจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับโจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา โดยจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 วันที่ 19 เมษายน 2542 และวันที่ 1 มิถุนายน 2542 โจทก์ทำสัญญาเช่าตู้นิรภัยจากจำเลยที่ 1 สาขาถนนสุขาภิบาล 3 รวม 3 ใบ หมายเลข 091, 107 และ 108 ซึ่งอยู่ในห้องมั่นคง เพื่อเก็บสิ่งของและเอกสาร ตามสำเนาสัญญาเช่าตู้นิรภัย โดยโจทก์ยินยอมให้นายเสรี และนางสุนี บิดามารดาใช้ตู้นิรภัยเก็บทรัพย์สินร่วมกับโจทก์ได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ประจำสาขาถนนสุขาภิบาล 3 จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสาขา เป็นผู้เก็บรักษารหัสเปิดประตูห้องมั่นคง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ เป็นผู้เก็บรักษากุญแจห้องมั่นคง 1 ดอก จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเงิน เป็นผู้เก็บรักษากุญแจห้องมั่นคงอีก 1 ดอก จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 5 เก็บรักษากุญแจห้องมั่นคงดอกที่จำเลยที่ 3 จะต้องเก็บรักษา เนื่องจากจำเลยที่ 3 เดินทางไปอบรมนอกสถานที่ หลังเลิกงานวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสเปิดห้องมั่นคงซึ่งอยู่ในแฟ้มไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2544 เวลา 20 นาฬิกา ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เวลา 7 นาฬิกา ช่วงที่จำเลยที่ 1 หยุดทำการและไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแล คนร้ายงัดหน้าต่างอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 1 สาขาถนนสุขาภิบาล 3 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เข้าไปในอาคาร ตัดสัญญาณกันขโมย งัดตู้นิรภัยเล็กกับรื้อค้นโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 2 และ ที่ 5 จนได้กุญแจห้องมั่นคงและรหัส จากนั้นคนร้ายใช้กุญแจและรหัสเปิดประตูเข้าไปในห้องมั่นคง งัดตู้นิรภัยหมายเลข 107 และ 108 ที่โจทก์เช่า รวมทั้งตู้นิรภัยที่ลูกค้าอื่นเช่าอีก 6 ใบ และลักทรัพย์ไปหลายรายการ โดยนางสุนีได้รับทรัพย์รวม 57 รายการ คืน คดีสำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่ฎีกาจึงยุติไป
พิเคราะห์แล้ว มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่คนร้ายเข้าไปโจรกรรมทรัพย์สินเป็นความสามารถของคนร้าย มิใช่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า การที่คนร้ายเข้าไปก่อเหตุเป็นการพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้ จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มิได้ประมาท นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจธนาคาร โดยในสถานที่ทำการมีทั้งทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เองและของลูกค้าตามที่จำเลยที่ 1 ให้บริการเช่าตู้นิรภัยเพื่อการเก็บรักษาทรัพย์สิน ซึ่งตู้นิรภัยอยู่ภายในห้องมั่นคงอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ได้ความจากพันตำรวจโทสมเกียรติ พนักงานสอบสวนในคดีอาญา และนายปัญญา ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ว่า ประตูห้องมั่นคงเป็นเหล็กแกร่งไม่สามารถที่จะเข้าไปได้ด้วยการงัดแงะ ต้องใช้กุญแจห้องมั่นคงที่มี 2 ดอก ซึ่งแต่ละดอกแยกออกเป็น 2 ส่วน ร่วมกับรหัสที่เป็นตัวเลขหลายหลักและมีวิธีการเฉพาะ จึงจะสามารถเปิดประตูห้องมั่นคงได้ แสดงว่าแม้คนร้ายจะเข้าไปในอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 1 ได้ แต่ถ้าไม่ทราบรหัสกับวิธีการเปิดและไม่มีกุญแจห้องมั่นคง คนร้ายย่อมไม่สามารถที่จะเปิดประตูเข้าไปในห้องมั่นคงได้เลย การเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จึงต้องใช้ความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน ที่นายปัญญาเบิกความว่า การเก็บรักษากุญแจห้องมั่นคง ไม่มีระเบียบของจำเลยที่ 1 ระบุไว้แน่นอนว่าจะเก็บไว้อย่างไร เพียงขอให้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ขัดกับที่นายปัญญาเคยให้ปากคำต่อพันตำรวจโทสมเกียรติ ตามสำเนาบันทึกคำให้การว่า ตามระเบียบแล้วทุกคนทราบดีว่าจะต้องนำกุญแจกลับบ้านทุกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติจะเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน เนื่องจากคิดว่าเป็นสถานที่ปลอดภัย ซึ่งตรงกับที่จำเลยที่ 4 ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ตามสำเนาบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.21 ว่า จำเลยที่ 1 มีระเบียบว่ากุญแจทุกดอกที่รับผิดชอบจะต้องนำกลับบ้านพักจนหมดและเวลาทำการจึงจะนำไปใช้ที่ธนาคาร ที่จำเลยที่ 4 บ่ายเบี่ยงว่า เพิ่งทราบหลังเกิดเหตุ ก็ยากแก่การรับฟัง ไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 4 ที่มีหน้าที่เก็บรักษาเงินซึ่งรับผิดชอบสูงจะทำงานไปโดยไม่ทราบระเบียบต่างๆ ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ ที่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างจำเลยที่ 2 และไม่จ่ายค่าชดเชย โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อที่ไม่นำรหัสเปิดประตูห้องมั่นคงกลับบ้าน ก็เป็นข้อที่สนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 วางระเบียบการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องนำติดตัวกลับบ้านหลังเวลาทำการของจำเลยที่ 1 ด้วยทุกครั้ง จึงน่าเชื่อว่ามีระเบียบกำหนดไว้เช่นนั้นจริง ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสและวิธีการเปิดห้องมั่นคงไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน อันเป็นการผิดระเบียบ จนเป็นเหตุให้คนร้ายรื้อค้นพบและนำไปใช้เปิดห้องมั่นคงแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยไป จึงต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคง อันเป็นผลโดยตรงต่อการเกิดเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ เพราะหากจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 นำรหัสและกุญแจห้องมั่นคงติดตัวกลับบ้านในวันหยุดทำการหลายวันตามระเบียบ ไม่เก็บไว้ในที่ทำงาน คนร้ายย่อมไม่สามารถเข้าไปในห้องมั่นคงได้เลย ซึ่งเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ก็จะไม่เกิดขึ้น ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ทำละเมิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างยังต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 อีกโสตหนึ่งด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ชำระเงิน 4,896,700 บาท แก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และชั้นฎีกาให้เป็นพับ