คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18368/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ชั้นบังคับคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง โดยอ้างเหตุแห่งการนั้นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ก็ตาม ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ฟ้องจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ต่อศาลแขวงนครราชสีมาและศาลมีคำพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) แล้ว ถือว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) กับจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) จะทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดไม่มีประเด็นพิจารณาในคดีก่อน ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะและการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4967 ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 38/1 หมู่ที่ 12 ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ของจำเลยทั้งสี่ และเพิกถอนคำพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมา คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 27/2555
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4967 ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 38/1 หมู่ที่ 12 ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ของจำเลยทั้งสี่ กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.658/2552 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4967 ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 202 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ วันที่ 9 ธันวาคม 2554 จำเลยที่ 4 เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 4 ตามสัญญาจะซื้อขาย ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2555 ศาลแขวงนครราชสีมา มีคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 27/2555 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว ครั้นวันที่ 2 มีนาคม 2555 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น (บังคับคดีแทนศาลจังหวัดสีคิ้ว) ขอให้มีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้าน และวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์พิพาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.658/2552 (ชั้นบังคับคดี) ของศาลจังหวัดสีคิ้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ชั้นบังคับคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง โดยอ้างเหตุแห่งการนั้นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ก็ตาม ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ฟ้องจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ต่อศาลแขวงนครราชสีมาและศาลมีคำพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) แล้ว ถือว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 จึงอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) กับจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) จะทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดไม่มีประเด็นพิจารณาในคดีก่อน ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะและการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4967 ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้เป็นพับ และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share