แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายแก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (3) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 352,639 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการนำรถออกให้ผู้อื่นเช่าเดือนละ 10,500 บาท เป็นเวลา 7 เดือน เป็นเงิน 73,500 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทน
ระหว่างพิจารณา นายสมเกียรติ จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ ผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งเจ็ดและจำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 (ที่ถูก จำเลยร่วม) และที่ 7 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 218,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 7 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 นายสมศักดิ์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ในราคาเช่าซื้อ 677,424 บาท กำหนดชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 14,113 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 พฤษภาคม 2544 และงวดต่อไปทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบถ้วน โดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2545 นายสมศักดิ์ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 เป็นมารดาและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตาย และจำเลยร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 6 ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ต่อมา จนกระทั่งวันที่ 4 เมษายน 2546 รถยนต์ดังกล่าวสูญหายไป สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน และจำเลยที่ 6 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์อีกนับแต่งวดที่ 24 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน 2546 เป็นต้นไป โจทก์ทราบถึงการตายของผู้ตายแล้วตั้งแต่ระหว่างวันที่ 3 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2545 และนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะจำเลยที่ 6 ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายนั้น มีผลเป็นการที่จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2546 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 6 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นต้นไป นับถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนดอายุความ 10 ปี
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 7 และจำเลยร่วมประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 6 ว่า หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ตายจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาใช้ต่อ และหลังจากนั้นจำเลยที่ 6 ก็ติดต่อแจ้งเรื่องการตายของผู้ตายให้โจทก์ทราบและชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตลอดมาจนรถยนต์ดังกล่าวสูญหายไป เมื่อพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายแต่ผู้เดียวเนื่องจากผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นบุตรสาวจำเลยที่ 1 และเป็นน้องสาวผู้ตาย จำเลยที่ 6 เบิกความรับว่าเป็นผู้จัดการเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตาย ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ประสงค์จะใช้รถยนต์ที่ผู้ตายอยู่ระหว่างการเช่าซื้อต่อไป การที่จำเลยที่ 6 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ต่อมาจึงน่าเชื่อว่าเป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของผู้ตายตามสัญญาเช่าซื้อดังที่จำเลยที่ 6 เบิกความนั่นเอง ประกอบกับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 6 พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน การชำระค่าเช่าซื้ออันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพย์สินของผู้ตายในช่วงนั้นจึงย่อมอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ด้วย ที่จำเลยที่ 1 ที่ 7 และจำเลยร่วมอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ไม่อาจมอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 ชำระหนี้แทนได้นั้น เห็นว่า สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปีนับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลงคือวันที่ 5 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 7 และจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 7 และจำเลยร่วมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่ตน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์