แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ออกให้แก่ อ. ผู้เอาประกันภัยจะมีกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ ซึ่งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองก็ตาม กรณีเป็นเรื่องระหว่าง อ. กับโจทก์ เมื่อคู่สัญญาดังกล่าวได้ปฏิบัติไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้ และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้ให้เช่าซื้อไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยไม่มีข้อคัดค้านโต้เถียงเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้แต่ประการใด ดังนั้นโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจาก อ. ผู้เอาประกันภัยในอันที่จะฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยและจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ อ. ลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว ก็ไม่ทำให้จำเลยและจำเลยร่วมพ้นจากความรับผิดไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 376,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยอินเตอร์ เซฟการ์ด จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม เนื่องจากจำเลยทำสัญญาจ้างบริษัทดังกล่าวให้เป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยและของบุคคลอื่นภายในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าดังกล่าวของจำเลย ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ของการสูญเสียหรือเสียหายในแต่ละครั้ง ทั้งนี้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหากจำเลยต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 376,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ลษ 2527 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายอภัยวรรณ ซึ่งเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวมาจากบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) มีอายุคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2546 มีข้อตกลงว่าหากรถยนต์คันดังกล่าวสูญหาย โจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงภายในวงเงินไม่เกิน 350,000 บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาถนนสุขสวัสดิ์ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค จำเลยว่าจ้างจำเลยร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าวและสถานที่จอดรถของจำเลย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 โจทก์ได้รับแจ้งจากผู้เอาประกันภัยว่ารถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไปขณะรถจอดอยู่ที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลย ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อจำนวน 350,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ออกให้แก่นายอภัยวรรณ จะมีกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ ซึ่งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองก็ตาม กรณีเป็นเรื่องระหว่างนายอภัยวรรณกับโจทก์ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า คู่สัญญาดังกล่าวได้ปฏิบัติไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้ และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยไม่มีข้อคัดค้านโต้เถียงเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้แต่ประการใด ดังนั้นโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากนายอภัยวรรณผู้เอาประกันภัยในอันที่จะฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยและจำเลยร่วมได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้นายอรรณพลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว ก็ไม่ทำให้จำเลยและจำเลยร่วมพ้นจากความรับผิดไปได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ