คำวินิจฉัยที่ 14/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครอง ขอให้เพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี จากการที่ผู้ฟ้องคดีได้เคยจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินบางส่วนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อใช้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เคยใช้ประโยชน์ในที่ดิน เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เมื่อกรณีตามคำฟ้องไม่มีกฎหมายใดกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองในการเพิกถอน ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินคืนให้แก่ผู้อุทิศให้ตามคำร้องขอ เนื่องจากสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ทั้งการถอนสภาพหรือโอนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๐๕ ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ วรรคสอง กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อไม่เข้าลักษณะคดีพิพาทที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลอื่น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๙

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ บริษัทแกรนด์เฮาส์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๐๐/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๘๓ แขวงหัวหมาก (หัวหมากใต้) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒๙ ตารางวา ซึ่งโฉนดที่ดินดังกล่าวได้รวมมาจากโฉนดที่ดินเดิม คือ โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๘๓ เลขที่ ๒๑๗๕๘ เลขที่ ๒๑๗๕๙ เลขที่ ๗๖๖๘๙ เลขที่ ๗๖๖๙๐ และเลขที่ ๘๙๙๕๐ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนแบ่งหักที่ดินเป็นถนนสาธารณประโยชน์ จำนวน ๓๔ ตารางวา นับตั้งแต่วันที่มี การจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ ๒๘ ปี สำนักงานเขตบางกะปิซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยมาดำเนินการใดหรือเข้าใช้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวเลย ประกอบกับไม่เคยมีประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเข้าใช้ประโยชน์หรือใช้เป็นทางสัญจรไปมาเพราะที่ดินทุกแปลงในบริเวณนั้นล้วนมีทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสาธารณะแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีได้แบ่งหักที่ดินเพื่อเป็นถนนสาธารณประโยชน์ก็เพียงเพื่อให้ครบตามเงื่อนไขในการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารสูงของผู้ฟ้องคดีตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ติดถนนหรือไม่มีทางเข้าออก การที่ผู้ฟ้องคดียกที่ดินให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือสาธารณะแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากนับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดียกที่ดินให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ก็ไม่ปรากฏว่ามีประชาชนหรือบุคคลภายนอกใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามแจ้งความประสงค์ขอคืนที่ดินหรือขอให้เพิกถอนที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีได้ยกให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ จำนวน ๓๔ ตารางวา และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกเฉย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ที่อยู่ทางทิศตะวันตกด้านใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๘๓ จำนวน ๓๔ ตารางวา ที่หักออกจากที่ดินดังกล่าวและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ไม่สามารถคืนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้เนื่องจากเมื่อแบ่งหักที่ดินยกให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์แล้ว ถนนสาธารณประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ และเหตุที่ไม่มีประชาชนหรือบุคคลภายนอกเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวที่ได้แบ่งหักให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์นั้นเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างประตูรั้วปิดกั้นไว้เป็นทางเข้า-ออกอาคารสำนักงานของบริษัทฯ ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๘๓ และโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่าเรื่องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเพิกถอนรายการจดทะเบียนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินการของฝ่ายปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองต่อไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ยังไม่ได้มีคำสั่งทางปกครองใดๆ อันจะกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีเพราะการจดทะเบียนแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์แปลงพิพาทเกิดจากความประสงค์และความสมัครใจของผู้ฟ้องคดีเอง เมื่อต่อมาภายหลังเปลี่ยนใจขอคืนจึงต้องตรวจสอบหลักเกณฑ์ว่าจะสามารถกระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ให้เป็นที่ยุติก่อน ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ ที่ดินเนื้อที่ ๓๔ ตารางวา อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับคืนไปเป็นของตน คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีต้องมีการขอให้รับรองสิทธิในการได้รับคืนที่ดินหรือการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีนั้น เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ฟ้องคดีอย่างไร กรณีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดี ได้ทำการรังวัดและจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๐ ต่อมาผู้ฟ้องคดีเห็นว่า นับตั้งแต่ที่มีการจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ที่พิพาท เป็นเวลาเกือบ ๒๘ ปี สำนักงานเขตบางกะปิซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยมาดำเนินการใดๆ หรือเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท และไม่เคยมีประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเข้าใช้ประโยชน์หรือใช้เป็นทางสัญจรแต่อย่างใด รวมทั้งการที่ผู้ฟ้องคดียกที่ดินพิพาทให้เป็นถนน ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือสาธารณะ ซึ่งหากมีการเพิกถอนที่สาธารณประโยชน์ที่พิพาทและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ก็ไม่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามขอให้เพิกถอนที่สาธารณะที่พิพาทและคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกเฉย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการเพิกถอนที่สาธารณะที่พิพาทและคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบกับคำคัดค้านคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลของผู้ฟ้องคดีซึ่งผู้ฟ้องคดียอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว คดีนี้จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่กรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมิได้ดำเนินการเพิกถอนที่สาธารณะที่พิพาทและคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำร้องขอของผู้ฟ้องคดี เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ ซึ่งหากกรณีถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ศาลก็ต้องพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการเพิกถอนที่สาธารณะที่พิพาทและคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำขอของผู้ฟ้องคดี คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๘๓ โดยผู้ฟ้องคดีแบ่งหักที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๓๔ ตารางวา จากที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่านับแต่วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๐ อันเป็นวันที่จดทะเบียนแบ่งให้ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๒๘ ปีเศษ สำนักงานเขตบางกะปิ หน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้ดำเนินการหรือเข้าใช้ประโยชน์ ทั้งประชาชนทั่วไปก็มิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการเพิกถอนที่ดินพิพาทและโอนกรรมสิทธิ์กลับคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งว่า เนื่องจากปัจจุบันที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นพื้นผิวคอนกรีตใช้เป็นทางเข้า-ออกและเป็นที่จอดรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีโดยมีรั้วกำแพงคอนกรีตและรั้วประตูปิดกั้นเป็นเหตุให้ไม่มีประชาชนทั่วไปเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ประกอบกับทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ทั้งการถอนสภาพหรือโอนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเพื่อใช้ประโยชน์หรือนำไปจัดเพื่อประชาชนต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๕ ประกอบพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘ จึงเป็นการโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในที่ดิน แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จะสืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกเฉยไม่ดำเนินการเพิกถอนที่ดินส่วนดังกล่าวและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทสิ้นสภาพความเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างหรือยังเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนแบ่งหักที่ดิน จำนวน ๓๔ ตารางวา ของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๘๓ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อใช้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ แต่สำนักงานเขตบางกะปิซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ที่พิพาทและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสามเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์พิพาทและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เมื่อกรณีตามคำฟ้องไม่มีกฎหมายใดกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองในการเพิกถอนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินคืนให้แก่ผู้อุทิศให้ตามคำร้องขอ เนื่องจากสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ทั้งการถอนสภาพหรือโอนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๕ ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ วรรคสอง กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อไม่เข้าลักษณะคดีพิพาทที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลอื่น
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทแกรนด์เฮาส์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share