คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5371/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับทนายความซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานที่แก้ต่างคดีให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ในคดีเดิมก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 มีอาชีพค้าขายอยู่คนละอำเภอกับสำนักงานทนายความดังกล่าวและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3ได้เกี่ยวข้องกับสำนักงานทนายความดังกล่าวนั้นแต่อย่างใด ทั้งการซื้อขายที่ดินก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 จำนวน 5 แปลงเป็นของภริยาจำเลยที่ 1 จำนวน 4 แปลง และเป็นของจำเลยที่ 1 จำนวน1 แปลง เหตุผลในการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินก็เพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองและซื้อข้าวเปลือก ยิ่งกว่านั้นในวันซื้อขายที่ดินจำเลยที่ 1ก็ได้นำจำเลยที่ 2 ไปขอกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 3 ด้วย โดยเสนอเอาที่ดินจำนองเป็นประกัน เพื่อจะนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายส่งญาติพี่น้องของจำเลยที่ 2 ไปทำงานในต่างประเทศ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับจำนองคงรับซื้อไว้ จึงได้ทำการซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 และที่ 2พร้อมกันในวันเดียวกัน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ต้องเสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคแรก นอกจากจำเลยที่ 3 จะให้การว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1และที่ 2 ตามคำฟ้องของโจทก์โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนในราคาอันเป็นธรรมแล้วยังให้การด้วยว่าได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเปิดเผย และจำเลยที่ 3 ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องคดีด้วย ตามคำให้การของจำเลยที่ 3ดังกล่าว พอสรุปได้ว่า จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้เป็นประเด็นว่าขณะทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น มิได้รู้เท่ากับข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบซึ่งเป็นประเด็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237จึงเป็นการให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้ง รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้วจำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้ได้ หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นตามคำให้การไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1และที่ 2 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1164/2527 ของศาลชั้นต้นระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 5441 ให้แก่จำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1038 และเลขที่ 1042ให้แก่จำเลยที่ 3 อันเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 1038 และเลขที่ 1042 ให้จำเลยที่ 3 จริง แต่ได้กระทำโดยสุจริต และเปิดเผยไม่ได้มีเจตนาที่จะให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนในราคาอันเป็นธรรม และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 5441 ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 3 และให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1038 และเลขที่ 1042 ระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 3ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยคงมีเพียงว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การซื้อที่ดินไว้ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าแม้จำเลยที่ 3 จะเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับทนายความซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานทนายความที่แก้ต่างคดีให้แก่จำเลยที่ 1ที่ 2 ในคดีเดิมก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 มีอาชีพค้าขายอยู่คนละอำเภอกับสำนักงานทนายความที่พี่ชายจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าสำนักงานและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ได้เกี่ยวข้องกับสำนักงานทนายความดังกล่าวแต่อย่างใด การซื้อที่ดินก็ปรากฏว่าซื้อจากจำเลยที่ 1 จำนวน 5 แปลง เป็นของภริยาของจำเลยที่ 1 จำนวน 4 แปลงและเป็นของจำเลยที่ 1 จำนวน 1 แปลง เหตุผลในการขายก็เพื่อนำเงินไปไถ่จำนองและซื้อข้าวเปลือก ในวันที่ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 นั้นจำเลยที่ 1 ได้นำจำเลยที่ 2 ไปขอกู้เงินจากจำเลยที่ 3 ด้วยโดยเสนอเอาที่ดินจำนองเป็นประกัน เพื่อจะนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายส่งญาติพี่น้องของจำเลยที่ 2 ไปทำงานเป็นลูกจ้างแรงงานในต่างประเทศแต่จำเลยที่ 3 ไม่รับจำนองคงรับซื้อไว้ จึงได้ทำการซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 พร้อมกันในวันเดียวกัน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยไม่รู้ความจริงว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2ต้องเสียเปรียบ
ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ให้การเพียงว่า ได้กระทำโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนในราคาเป็นธรรมให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2เท่านั้น โดยมิได้ให้การถึงรายละเอียดว่า กระทำการโดยสุจริตอย่างไรและเสียค่าตอบแทนในราคาเป็นธรรมอย่างไร ประเด็นในเรื่องนี้จึงไม่มีข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า นอกจากจะให้การว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามคำฟ้องของโจทก์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนในราคาอันเป็นธรรมแล้ว จำเลยที่ 3 ยังให้การด้วยว่าได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเปิดเผย และจำเลยที่ 3 ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องคดี ซึ่งตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวพอสรุปได้ว่า จำเลยที่ 3ให้การต่อสู้เป็นประเด็นว่า ขณะทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ซึ่งเป็นประเด็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงเป็นการให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้ง รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 3จึงมีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้ได้ หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นอันจะต้องห้ามมิให้รับฟังไม่
พิพากษายืน

Share