แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงให้กับกองทัพเรือ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการก่อสร้างอาคารนั้นให้ และในบริเวณที่ก่อสร้างนั้น มีการปักป้ายชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ไว้ ทำให้คนทั่วไปรวมทั้งโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสถานที่นั้น ระหว่างก่อสร้างจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อจ้างโจทก์ให้ถมทรายและทำถนนลูกรังในบริเวณก่อสร้างจนเสร็จและจำเลยที่ 1 ก็ได้ส่งมอบงานถนนนั้นต่อกองทัพเรือแล้วรับเงินมาพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่า จำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าจ้างที่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ชำระแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารที่ทำการหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขง มีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดำเนินการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ แรงงานและควบคุมการก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญา ทั้งมีอำนาจรับเงินจากจำเลยที่ 1 ไปชำระค่าวัสดุอุปกรณ์แรงงานและจ้างทำของในการก่อสร้าง ระหว่างดำเนินการก่อสร้างจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ทำการถมทราย และทำถนนลูกรังภายในอาคารและบริเวณที่ก่อสร้างรวมเป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยที่ 2 ชำระให้โจทก์แล้ว 100,000 บาทยังค้างอยู่ 100,000 บาท ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ โจทก์บอกกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยให้ร่วมกันใช้เงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน แต่จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมวิทย์ก่อสร้างซึ่งได้ทำสัญญาจ้างเหมาแรงงานทำการก่อสร้างอาคารหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงไปจากจำเลยอีกทอดหนึ่ง โดยมีข้อกำหนดห้ามก่อหนี้สินในนามของจำเลยที่ 1คดีของโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เชิดจำเลยที่ 2เป็นตัวแทน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องถึงวันชำระ
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับกองทัพเรือ 2 ฉบับ เพื่อสร้างอาคารหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ขนทรายมาถมและทำถนนลูกรังในบริเวณอาคารที่ก่อสร้าง โจทก์ขนทรายและทำถนนคิดเป็นเงิน 200,000บาท จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างให้โจทก์แล้ว 100,000 บาท ยังค้างชำระอีก100,000 บาท ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนและจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่บริเวณก่อสร้างมีป้ายชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ปักไว้เป็นพฤติการณ์ที่คนทั่วไปรวมทั้งโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสถานที่นั้น ก่อนทำสัญญาจ้างโจทก์ขนทรายและทำถนนลูกรัง จำเลยที่ 2 ก็ได้นำหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มาให้โจทก์ดู มีเหตุให้โจทก์เชื่อว่าการขนทรายขนลูกรังมาทำถนนเป็นกิจการในการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้รับเงินจากกองทัพเรือเมื่อส่งมอบงานถนนซึ่งเป็นผลงานที่จำเลยที่ 2 จ้างโจทก์ทำ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับประโยชน์จากผลงานที่โจทก์เป็นผู้ทำ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญารับเหมาช่วงทำการก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 หากแต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมวิทย์เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมวิทย์ทำการก่อสร้างไม่เสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 ก็เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมวิทย์ การก่อสร้างที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้น ก็คือการก่อสร้างที่ห้างหุ้นส่วนเฉลิมวิทย์ทำนั่นเอง เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมวิทย์ผิดสัญญากับจำเลยที่ 1 ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องว่ากล่าวเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมวิทย์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมวิทย์ทำการก่อสร้างไม่เสร็จ แต่โจทก์ได้ขนทรายทำถนนลูกรังเสร็จตามสัญญาที่ทำกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 นำผลงานนั้นส่งมอบต่อกองทัพเรือแล้วเบิกรับเงินค่าจ้างเหมามา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าจ้างที่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ชำระแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน