คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397-398/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การหย่าโดยคำพิพากษามีผลตั้งแต่เวลาคำพิพากษาถึงที่สุดสามีกู้เงินไปสร้างตึกแถวขาย เป็นการประกอบกิจการงานหาเลี้ยงครอบครัวจึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 เดิม ซึ่งเจ้าหนี้บังคับคดีแก่สินบริคณห์ได้ตามมาตรา 1480 แม้มิได้ฟ้องภริยาด้วยก็ตาม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องที่ผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์และขอให้ถอนการยึดที่ดินส่วนที่เป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมจำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2512ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2516 ผู้ร้องได้ฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งสินสมรสตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 360/2517 ของศาลจังหวัดราชบุรี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน และให้แบ่งทรัพย์สินที่ฟ้องรวมทั้งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 345 คนละครึ่ง เฉพาะบ้านถ้าแบ่งไม่ได้ให้จำเลยใช้เงิน 15,000บาท และให้ใช้ค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 345 กับสิ่งปลูกสร้าง 100,000 บาทศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ผู้ร้องได้ไปจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่20 มกราคม 2521 จำเลยยังเป็นลูกหนี้ผู้ร้องตามคำพิพากษาอยู่ 115,000บาท ขณะที่ผู้ร้องกำลังดำเนินการบังคับคดี ปรากฏว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม2518 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 60,000 บาท โดยบอกว่าจะเอาไปสร้างตึกแถวที่ตลาดจอมบึงไว้ขาย จำเลยได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 345 มาให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเมื่อวันที่20 มกราคม 2521 แล้วนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 345 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม ขณะที่โจทก์ให้จำเลยกู้เงินไปนั้น โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยมีเรื่องกับผู้ร้องภริยาเพิ่งทราบภายหลังว่าผู้ร้องฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลย ส่วนผู้ร้องไม่เคยทราบเรื่องที่จำเลยกู้เงินโจทก์ เพราะได้แยกกันอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 โดยผู้ร้องแยกไปอยู่กับบิดาที่อำเภอสามพรานผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยและเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์นำยึดครึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ร้องจึงร้องขอเฉลี่ยทรัพย์และขอกันส่วนของตน

คดีมีปัญหาว่า หนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ไปจากโจทก์เป็นหนี้ร่วมหรือไม่ และผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์กับขอกันส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 345 ที่โจทก์นำยึดได้หรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องได้ฟ้องขอหย่าจำเลยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516 ต่อมาศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2521 และผู้ร้องได้ไปจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2521 ถือว่าผู้ร้องได้หย่าขาดจากจำเลย และทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยได้แยกกันตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2516 ซึ่งเป็นวันฟ้องหย่าแล้ว โจทก์เพิ่งฟ้องคดีภายหลัง และไม่ได้ฟ้องผู้ร้องด้วย โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดทรัพย์สินส่วนของผู้ร้องขายทอดตลาดได้นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1511 วรรคสอง ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่า “การหย่าตามคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่านั้นแล้ว” ดังนี้ การหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยโดยคำพิพากษาจึงมีผลตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2521 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งเป็นคำพิพากษาถึงที่สุด และต้องถือว่าก่อนวันคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องกับจำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่ หนี้ที่จำเลยกู้เงินโจทก์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2518 เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส

ส่วนข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่า หนี้ที่จำเลยกู้เงินโจทก์ไปมิใช่เป็นหนี้ร่วมนั้นศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปสร้างตึกแถวขายผู้ร้องมิได้ฎีกาคัดค้านว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพียงแต่อ้างว่าจำเลยไปกู้เงินคนเดียว ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือรับประโยชน์ด้วย และมิใช่หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งทำร่วมกันเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปสร้างตึกแถวขายอันเป็นการลงทุนประกอบกิจการงานหาเลี้ยงครอบครัว จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1482 และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรส จำเลยและผู้ร้องจะต้องรับผิดใช้หนี้รายนี้ร่วมกัน โดยให้ใช้จากสินบริคณห์และสินส่วนตัวทั้งสองฝ่ายตามมาตรา 1480 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธินำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 345 ทั้งแปลงอันเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ร้องก่อน กรณีเช่นนี้แม้ผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่าขาดจากจำเลยแล้ว และผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยและที่ดินที่ถูกยึดเป็นของผู้ร้องครึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็ตามผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์และขอกันส่วนของตนได้”

พิพากษายืน

Share