คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 สาขาธาตุพนมและสาขาสกลนคร ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ ต่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด และโจทก์ตามลำดับ สำหรับการเป็นตัวแทนในการเก็บเบี้ยประกันภัย ต่อมาบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ได้แยกธุรกิจประกันวินาศภัยออกจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ด้วยการจัดตั้งบริษัทโจทก์ และโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ไปเป็นของบริษัทโจทก์ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 127 ในอายุสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 เก็บเบี้ยประกันภัยแล้วไม่นำส่งคืนให้แก่บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด และนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 626,649 บาท แต่ผิดนัดไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเบี้ยประกันภัยที่ไม่นำส่งคืนให้แก่บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ตามจำนวนเงินในหนังสือรับสภาพหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับที่สอง และต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรกด้วย เนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ตามวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ โดยได้รับผลตอบแทน ย่อมเป็นการค้ำประกันต่อกิจการในส่วนการประกันวินาศภัยนั้น ๆ ไม่ว่าส่วนกิจการประกันวินาศภัยจะถูกแยกไปตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่งหรือไม่ นอกจากนั้นในหนังสือต่ออายุสัญญาค้ำประกันซึ่งทำขึ้นหลังจากแยกกิจการในส่วนประกันวินาศภัยแล้วก็ยังระบุชื่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เป็นคู่สัญญา ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 2 เองก็ประสงค์ผูกพันตนต่อกิจการประกันวินาศภัยที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนอยู่ ทั้งไม่ปรากฏว่าการแยกกิจการดังกล่าวทำให้ภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการเก็บและส่งเบี้ยประกันภัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ไปยังบริษัทโจทก์ ย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรกโอนมายังบริษัทโจทก์ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 644,160.83 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 626,649 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้จำเลยที่ 2 มีความรับผิดเพียง 500,000 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 644,160.83 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี (ที่ถูก ของต้นเงิน 626,649 บาท)นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 เมษายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทนเป็นเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,500 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรก โดยเห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ไม่ได้ค้ำประกันต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด นั้น ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินการให้มีการแยกกิจการที่เกี่ยวกับการประกันวินาศภัยมาจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้กิจการประกันชีวิตแยกจากกิจการประกันวินาศภัย โดยต้องมีการโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด มาเป็นของบริษัทโจทก์ และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ตามวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ โดยได้รับผลตอบแทน ก็ย่อมเป็นการค้ำประกันต่อกิจการในส่วนการประกันวินาศภัยนั้น ๆ ไม่ว่าส่วนกิจการประกันวินาศภัยจะถูกแยกไปตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่งหรือไม่ ซึ่งก็ปรากฏว่า หลังจากแยกบริษัทโจทก์ออกมาจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัยจำกัด แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 2 ก็ยังทำหนังสือเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 ต่ออายุสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไปถึงวันที่ 11 เมษายน 2545 โดยในหนังสือต่ออายุสัญญาค้ำประกันก็ยังระบุชื่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เป็นคู่สัญญาแม้ขณะนั้นบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ไม่ได้ประกอบกิจการในส่วนการประกันวินาศภัยแล้วก็ตาม อันแสดงอยู่ว่า จำเลยที่ 2 เองก็ประสงค์จะผูกพันตนต่อกิจการประกันวินาศภัยที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนอยู่ไม่ว่าในช่วงเวลาที่ค้ำประกันนั้น กิจการในส่วนประกันวินาศภัยจะได้แยกไปจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด แล้วหรือไม่ก็ตาม ทั้งไม่ปรากฏว่าการแยกกิจการดังกล่าวทำให้ภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการเก็บและส่งเบี้ยประกันภัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ไปยังบริษัทโจทก์ จึงย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรกโอนมายังบริษัทโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรกโดยเห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท

Share