คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจะเป็นเหตุให้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยได้รับอันตรายแก่กาย หน้าผากแตกเลือดซึม ตาซ้าย ไหล่ซ้ายเอว และขาซ้ายเจ็บ และทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่การบาดเจ็บของผู้จัดการทั่วไปเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งค่าเสียหายของรถยนต์ดังกล่าวบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ จำเลยจึงได้รับความเสียหายอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119(3) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
อุทธรณ์ของจำเลยมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เพราะเหตุใด โดยจำเลยอุทธรณ์เน้นเฉพาะบทกฎหมายที่บัญญัติว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ ต่อมาจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 145,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,200 บาท และค่าเสียหาย 327,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าเสียหาย และร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เป็นพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งของผู้บริหารจำเลย โจทก์ได้ขับรถยนต์ประจำตำแหน่งดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้พุ่งชนรถยนต์คันหน้า รถเสียหลักชนเกาะกลางถนนได้รับความเสียหาย 66,400 บาท ผู้บริหารจำเลยได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยต้องเสียค่าเช่าระหว่างซ่อม 42,000 บาท และเช่ารถยนต์ใหม่มาใช้แทนเป็นเงิน 100,500 บาท การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 208,700 บาทแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า รถยนต์ประจำตำแหน่งของจำเลยที่โจทก์เป็นคนขับนั้นเป็นรถเช่า หากเกิดการเสียหายใด ๆ จำเลยไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด เป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้รับประกันภัยต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว ส่วนจำเลยต้องชำระค่าเช่าระหว่างซ่อมนั้นไม่เกี่ยวกับโจทก์เพราะปกติจำเลยต้องจ่ายค่าเช่าอยู่แล้ว สำหรับการเช่ารถยนต์คันใหม่มาใช้ไม่จำเป็นเพราะจำเลยยังมีรถยนต์คันอื่นใช้อยู่ หากจำเลยเช่ารถยนต์คันใหม่จริงก็ไม่เกี่ยวกับโจทก์เช่นเดียวกัน ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า18,200 บาท ค่าชดเชย 145,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ประมาทเลินเล่อขับรถยนต์ประจำตำแหน่งของจำเลยไปเฉี่ยวชนรถยนต์คันอื่นและกระแทกกับกำแพงกั้นแนวถนนเป็นเหตุให้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยได้รับอันตรายแก่กายรถยนต์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าซ่อมและเสียค่าเช่ารถยนต์ในระหว่างการซ่อมดังที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมา ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119(3) นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อแล้ว ก็ต้องพิจารณาถึงผลแห่งการกระทำนั้นว่าเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่าการขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อของโจทก์เป็นผลให้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยได้รับอันตรายแก่กาย หน้าผากแตกเลือดซึม ตาซ้าย ไหล่ซ้าย เอวและขาซ้ายเจ็บ และเป็นผลให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย แต่การบาดเจ็บของผู้จัดการทั่วไปดังกล่าวเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งรถยนต์ดังกล่าวเป็นของผู้ให้เช่าและค่าเสียหายจากการซ่อมรถ บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนค่าเช่ารถยนต์ก็เป็นค่าใช้จ่ายปกติของจำเลยที่ต้องจ่ายประจำอยู่แล้ว กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายอยู่บ้างแต่ไม่มากนักยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยมีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ในส่วนนี้ด้วยนั้น ปรากฏว่าอุทธรณ์ของจำเลยมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวด้วยเหตุใด โดยจำเลยอุทธรณ์เน้นเฉพาะบทกฎหมายที่บัญญัติว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่จำเลยไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share