คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 24 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 23 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” การที่จำเลยที่ 1 หักเงินจำนวน 47,647.22 บาท ซึ่งเป็นส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบอันเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของโจทก์จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของบทกฎหมายดังกล่าว และยังเป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 346 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องรายใดตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนั้นจะนำไปหักกลบลบหนี้ไม่ได้” ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่หักไว้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงิน ๔๗,๖๔๗.๒๒ บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ ก่อนโจทก์ลาออกได้กู้เงินจากจำเลยที่ ๑ จำนวน ๖๑๒,๐๐๐ บาท เมื่อโจทก์ลาออกโจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวนตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ ๑ นำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ บัญชีเลขที่ ๑๐๐-๒-๐๗๗๐๐-๙ ณ ธนาคารจำเลยที่ ๑ สำนักงานใหญ่แล้วและจำเลยที่ ๑ ได้หักเงินจำนวน ๔๗,๖๔๗.๒๒ บาท ชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์ค้างชำระต่อจำเลยที่ ๑ ตามหนังสือให้ความยินยอมให้หักเงินและผลประโยชน์ของโจทก์ ปรากฏตามสำเนาใบลาออกและสำเนาหนังสือยินยอมเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๔ และ ๕ ส่วนเงินจำนวน ๑๗,๓๓๖.๔๙ บาท โจทก์สามารถเบิกถอนได้ตลอดเวลา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ได้จ่ายเงินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามระเบียบและขั้นตอนของจำเลยที่ ๑ ถือว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ว่าที่จำเลยที่ ๑ หักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน ๔๗,๖๔๗.๒๒ บาท ไว้ตามหนังสือยินยอมของโจทก์นั้น เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๓ , ๒๔ หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๓ วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียวภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ” และมาตรา ๒๔ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” บทบัญญัติดังกล่าวแสดงเจตนารมณ์ว่าสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดคราวเดียวโดยเร็วอย่างช้าไม่เกินสามสิบวัน เพื่อนำไปเลี้ยงดูชีวิตตนเองและครอบครัว (ถ้ามี) ทั้งนี้โดยไม่ถูกโอนหรือถูกบังคับคดีหรือถูกบังคับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ ๒ ได้จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้นำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ เงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดแม้จะอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังจำแนกได้ว่าเงินจำนวนใดเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ มิได้ปะปนกับเงินอื่นของโจทก์จนไม่อาจแยกออกได้หรือได้ใช้สอยแปรเปลี่ยนไปเป็นทรัพย์สินอื่นแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ หักเงินจำนวน ๔๗,๖๔๗.๒๒ บาท ซึ่งเป็นส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบอันเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของโจทก์จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำเลยที่ ๑ จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของบทกฎหมายดังกล่าว และยังเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๖ ซึ่งบัญญัติใจความสำคัญว่า สิทธิเรียกร้องรายใดตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนั้นจะนำไปหักกลบลบหนี้ไม่ได้ด้วย จำเลยที่ ๑ จึงต้องคืนเงินจำนวนที่หักไว้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ๔๗,๖๔๗.๒๒ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share