คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1061/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษา ผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจากฝ่ายจำเลยแล้วจึงไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ยอมความกันในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1884 ตำบลควนขนุนอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการที่นายอำเภอเขาชัยสนออกให้แก่นายเสถียร คงมา โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดทำรายการสารบัญจดทะเบียนเพิ่มเติมปลอมลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว หลังจากนั้นในวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงกู้เงินจำนวน 100,000 บาท จากผู้เสียหาย โดยใช้และอ้างหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปลอมดังกล่าวมอบให้ผู้เสียหายยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวและเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นเป็นเอกสารปลอม ผู้เสียหายหลงเชื่อยอมรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปลอมดังกล่าวไว้เป็นหลักประกันเงินกู้และมอบเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองไป ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายเหตุเกิดที่ตำบลคูหาสวรรค์อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ต่อมาผู้เสียหายมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นให้แก่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 266, 268, 341, 91, 83 และ 33 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 266(1),341 ฐานร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันใช้เอกสารปลอม เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม ทั้งนี้ ฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอมจึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่าหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษา ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่าผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจำนวน 103,478บาท จากฝ่ายจำเลยแล้ว จึงไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1อีกต่อไป ปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2544 ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้วก็ตาม ก็มีผลเพียงแต่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ตามที่วินิจฉัยแล้วเท่านั้น แต่ความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำนั้นหาได้ระงับไปด้วยไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือรับรองการทำประโยชน์และนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปลอมดังกล่าวไปหลอกลวงกู้เงิน ผู้เสียหายจำนวนมากถึง 100,000 บาท มีลักษณะเป็นภัยร้ายแรงต่อผู้เสียหายและกระทบต่อความเชื่อถือของประชาชนผู้สุจริตทั่วไปในการใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นพยานหลักฐานแม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาว่า นางตรีชฎา ทองคำทายาทของนายเสถียร คงมา เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเกิดเหตุในคดีนี้ ไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ปรากฏตามบันทึกแนบท้ายฎีกา และจำเลยที่ 1เคยประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ มาก่อนก็ตาม แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1เข็ดหลาบ และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นอันจะเป็นการปกป้องสังคมและประชาชนผู้สุจริตจากผู้ที่คิดจะกระทำการเช่นจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเสียจากสารบบความ จำเลยที่ 1คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266(1) และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266(1) ประกอบมาตรา 83เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266(1) ตามมาตรา 268วรรคสอง จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ยกคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share