คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1079/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์คันที่เช่าซื้อโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร และรถได้เสื่อมราคาลงไปเนื่องจากเกิดความเสียหาย เพราะจำเลยที่ 1 ใช้รถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ แต่กลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษารถดังกล่าวตามสมควรแล้วโดยนำไปตรวจเช็คและซ่อมแซมที่ศูนย์รถยนต์ของโจทก์เป็นประจำตลอดมา ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยถือมิได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการเสื่อมราคาตามสภาพของการใช้รถตามปกติ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อฮุนไดจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ว่าจะรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรวม 19 งวด ส่วนงวดที่ 20 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อบางส่วนจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 21 เป็นต้นมา คงค้างชำระค่าเช่าซื้อ 496,519 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์แต่รถยนต์คันดังกล่าวอยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน 10,807 บาท และรถยนต์ที่เช่าซื้อต้องเสื่อมราคาจากราคาปกติ 196,519 บาท รวมค่าเสื่อม ราคาค่าซ่อมและค่าอะไหล่ 207,326 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 215,099 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 207,326 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพดี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองค่าซ่อมรถไม่เกิน 1,000 บาท ค่าเสียหายไม่เกิน 6,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤศจิกายน2540) จนกว่าชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์พิพาทอย่างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถเสียหายและเสื่อมราคาลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าเสื่อมราคาให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายวีระศิลป์ แก้วมุนีโชค ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่า รถยนต์พิพาทเสื่อมสภาพลงและโจทก์คิดค่าเสื่อมสภาพเป็นเงิน 196,519 บาท โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร และรถได้เสื่อมราคาลงไปเนื่องจากเกิดความเสียหายเพราะจำเลยที่ 1 ใช้รถโดยประมาทเลินเล่อ ยิ่งไปกว่านั้นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายการตรวจสภาพรถตามเอกสารหมาย จ.13กลับบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษารถยนต์พิพาทตามสมควรแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจเช็คและซ่อมแซมที่ศูนย์ซ่อมรถยนต์ของโจทก์เป็นประจำตลอดมา ดังนี้ การที่รถยนต์พิพาทถูกใช้งานตามสภาพก็ย่อมเสื่อมราคาไปบ้างตามปกติ และเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยถือมิได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมิต้องรับผิดเกี่ยวกับการเสื่อมราคาตามสภาพของการใช้รถยนต์ตามปกติพยานหลักฐานโจทก์รับฟังมิได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์พิพาทอย่างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์เสื่อมราคาลงและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อเป็นประเด็นเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง

Share