แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กระทรวงการคลังโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ธ. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุหรือทรัพย์สินในที่ดินราชพัสดุแทน เมื่อขณะที่ ธ. มีคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น ธ. ยังเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 แม้ ธ. จะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว แต่เมื่อคำสั่งมอบอำนาจไม่ได้ถูกยกเลิกเพิกถอนจึงยังคงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เหตุที่ขณะฟ้อง ธ. พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้วมิได้ทำให้ฐานะของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์สิ้นสุดตามไปด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกระทรวงในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินแผ่นดินและที่ราชพัสดุมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กระทำการในนามโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518โดยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุโฉนดเลขที่ 7351 เดิมเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2528โจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมได้ทำสัญญาให้นายบุญช่วย เวชพานิช สามีจำเลยเช่าที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 492.48 ตารางวา เพื่ออยู่อาศัยมีกำหนด1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 ค่าเช่าเดือนละ 2,954.88 บาท ผู้เช่าชำระค่าเช่าให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าผู้เช่ายังอยู่อาศัยในที่เช่าตลอดมาแต่มิได้ทำสัญญาเช่าใหม่ ต่อมาเดือนตุลาคม 2530ผู้เช่ายื่นคำร้องขอต่ออายุสัญญาเช่าพร้อมกับชำระค่าเช่าประจำปี 2529 และ 2530ให้แก่โจทก์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจสอบพบว่าผู้เช่าใช้สถานที่เช่าประกอบกิจการค้าร้านอาหารชื่อ โพธิ์ทอง ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ในการเช่า ต่อมาวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2531 นายบุญช่วยถึงแก่ความตายทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยในฐานะบริวารของผู้ตายยังคงครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และยื่นคำร้องขอสืบสิทธิการเช่าต่อโจทก์ โจทก์ไม่อนุญาต ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินราชพัสดุโฉนดเลขที่ 7351 ทะเบียนราชพัสดุเลขที่ 17 (6752) ถนนเทศาหน้าพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ จำนวน 134,616 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2537 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 25,241 บาท ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน134,616 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ 4,081 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 71,484บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 71,484 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ นอกจากนั้นให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ4,081 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปหลังวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เพิ่มขึ้นร้อยละ15 ของอัตราเดือนละ 4,081 บาท และชำระเพิ่มร้อยละ 15 ของทุก ๆ 5 ปี ถัดไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนายวิชัย ธรรมชอบ ผู้รับมอบอำนาจเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่ข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในขณะที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7351 ถนนเทศาหน้าพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม กับให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 3,548 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 4,081 บาท นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536ถึงเดือนเมษายน 2537 และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์จำนวน134,616 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2537จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 16 ตุลาคม 2539)ต้องไม่เกินจำนวน 25,241 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินค่าเสียหายอัตราเดือนละ 4,081 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคม 2538 จนถึงวันฟ้อง นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเพียงประการเดียวว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคำสั่งที่มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยแทนโจทก์นั้น ได้สิ้นสุดไปแล้วนับแต่วันที่นายธารินทร์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นกระทรวงในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2536 นายธารินทร์นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุแทน ตามสำเนาคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 26/2536 เรื่อง มอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดลงวันที่ 8 มีนาคม 2536 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตามคำสั่งดังกล่าวมีข้อความเป็นสำคัญว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุหรือทรัพย์สินในที่ดินราชพัสดุแทน คดีนี้โจทก์โดยนายวิชัย ชอบธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539 ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินราชพัสดุของโจทก์ ขณะที่ฟ้องนายธารินทร์ได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแล้ว เห็นว่า เมื่อในขณะที่นายธารินทร์มีคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีแทนโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1นั้น นายธารินทร์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539นายธารินทร์จะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโจทก์ไปแล้วตามที่จำเลยอ้างในฎีกา แต่เมื่อคำสั่งมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ถูกยกเลิกเพิกถอนคำสั่งมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวของนายธารินทร์ ที่ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีขณะนายธารินทร์เป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์นั้นคงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เหตุที่ขณะฟ้องนายธารินทร์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการของโจทก์ไปแล้วจึงหาได้ทำให้ฐานะของผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์สิ้นสุดตามไปด้วยไม่ คดีฟังได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน