คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะต้องส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่ศาลพิจารณาอยู่ การที่จะพิจารณาว่าศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7 ฉะนั้นการที่จำเลยให้การว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางแต่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 276ที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 9 บัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 6นั้น จึงมิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 6 จึงไม่มีเหตุที่ศาลภาษีอากรกลางจะต้องส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินกับเงินเพิ่มจำนวน 412,632 บาท แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นกับเอกชน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 276 การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 6 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และให้การต่อสู้ประเด็นอื่นอีกหลายประเด็น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 ขอให้ศาลภาษีอากรกลางส่งเรื่องที่จำเลยให้การต่อสู้ประเด็นอำนาจฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่าการที่ศาลจะส่งคำโต้แย้งของคู่ความไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล ในคดีนี้ศาลได้ตั้งประเด็นปัญหาข้อกฎหมายไว้ในชั้นชี้สองสถานแล้วจึงไม่มีเหตุตามคำร้องยกคำร้อง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จการพิจารณา และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 12 กันยายน 2544 จำเลยคัดค้านคำสั่งดังกล่าว

จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2544 ว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 412,632 บาทแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้น

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่ส่งความเห็นของจำเลยที่ว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 276 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใดถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า กรณีที่ศาลจะต้องส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ต้องเป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่ศาลพิจารณาอยู่ การที่จะพิจารณาว่าศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 ดังนั้น การที่จำเลยให้การว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง แต่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 276 ที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 6 จึงมิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 6 จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสองฉบับดังกล่าวชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share