แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 นั่งอยู่โต๊ะเดียวกันกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ต่อสู้กับผู้ตาย จำเลยที่ 1 ชักอาวุธมีดออกมาเข้าไปช่วยจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 ก็อยู่กับจำเลยที่ 2 โดยตลอด อีกทั้งเข้าร่วมต่อสู้ด้วยและหลบหนีไปด้วยกัน เมื่อการตายของผู้ตายเกิดจากการที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดแทงร่างกายบริเวณที่สำคัญ ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นด้วย
ตามพฤติการณ์แห่งคดีการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าผู้ตาย มีสาเหตุจากการทะเลาะวิวาทกันและผู้ตายก็มีอาวุธมีดต่อสู้ด้วย โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นหนักเกินไป สมควรลดลงให้เหมาะสมแก่รูปคดี แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา ๒๘๘ , ๓๗๑ , ๙๑ , ๘๓ , ๘๐
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๒ ให้การว่าฆ่าผู้ตายโดยเหตุบันดาลโทสะ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายเล็ง เทียมราช และนางสิ้น เทียมราช บิดาและมารดาของนายสมรักษ์ เทียมราช ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ , ๓๗๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ , ๘๐ เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ปรับคนละ ๑๐๐ บาท กับให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานพยายามฆ่าจำคุก ๑๐ ปี เฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำเลยที่ ๒ รับว่าแทงผู้ตายหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ คงลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นจำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน รวมลงโทษจำเลยที่ ๒ จำคุก ๔๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๑๐๐ บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ขอถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม ประกอบมาตรา ๕๓ เฉพาะฐานฆ่าผู้อื่น จำเลยที่ ๑ คงจำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๑๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้ตายกับพวกไปดื่มสุราที่ร้านอาหารบุญจิราซึ่งมีนางสาวบุญจิราคู่หมั้นของผู้ตายเป็นเจ้าของร้าน โดยมีจำเลยที่ ๒ กับพวกนั่งรับประทานอาหารและดื่มสุราที่ร้านดังกล่าวเช่นเดียวกันอยู่แล้ว จนถึงเวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกา ผู้เสียหายไปร่วมดื่มสุรากับผู้ตาย จากนั้นเวลาประมาณ ๑ นาฬิกา ของวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๐ พวกของผู้ตายกับพวกของจำเลยที่ ๒ เกิดทะเลาะวิวาทต่อสู้กัน จำเลยที่ ๒ ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายที่บริเวณเหนือสะดือทะลุช่องท้อง ลำไส้ทะลัก ใต้ชายโครงซ้าย ทะลุช่วงท้อง และบริเวณหน้าอกด้านซ้ายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วยหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีผู้เสีหายเบิกความว่า ผู้เสียหายไปที่ร้านอาหารบุญจิราเข้าไปนั่งที่โต๊ะของผู้ตายกับพวก ส่วนจำเลยทั้งสองกับพวกนั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง ผู้ตายลุกเข้าห้องน้ำแล้วออกมาบอกผู้เสียหายว่าถูกแทง ผู้เสียหายลุกขึ้นจะช่วยพยุงผู้ตาย ได้ยินเสียงดังมาจากโต๊ะของจำเลยที่ ๑ เมื่อหันไปมองจำเลยที่ ๒ ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายบริเวณหน้าท้องด้านขวา แล้วจำเลยที่ ๒ กับพวกอีกคนหนึ่งวิ่งออกไปทางหน้าร้าน ผู้ตายวิ่งตามออกไป นางสาวบุญจิรา แก้วขาว เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกับพวกไปนั่งดื่มสุราที่ร้านของตน จำเลยทั้งสองกับพวกนั่งดื่มสุรากันอยู่แล้วผู้ตายเข้าห้องน้ำ จำเลยที่ ๒ หยิบขวดน้ำปลาซ่อนในเสื้อเดินตามไป เมื่อผู้ตายกลับมาที่โต๊ะจำเลยที่ ๒ พูดกับผู้ตาย แล้วใช้ขวดน้ำปลาตีศีรษะผู้ตาย จำเลยที่ ๑ จึงลุกขึ้นชักอาวุธมีดปลายแหลมยาวประมาณ ๓ นิ้ว จะเข้าไปแทงผู้ตาย พยานจึงคว้าข้อมือจำเลยที่ ๑ และร้องห้าม แต่จำเลยที่ ๑ สะบัดมือและเข้าไปช่วยจำเลยที่ ๒ จึงเกิดชุลมุนต่อสู้กัน จำเลยทั้งสองวิ่งออกไปทางหน้าร้าน ผู้ตายถืออาวุธมีดวิ่งตามไปแล้วล้มลงจำเลยที่ ๒ ย้อนกลับมาหาผู้ตาย ใช้อาวุธมีดของผู้ตายแทงผู้ตายที่ท้อง แล้วจำเลยทั้งสองหลบหนีไป และนายธีระพงษ์ แดงสะอาดเบิกความว่า เมื่อเกิดเหตุชุลมุนต่อสู้กัน จำเลยที่ ๑ เข้าร่วมต่อสู้กับพวกผู้ตายด้วย ผู้ตายชักอาวุธมีดที่ซ่อนไว้ออกมา จำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนี ผู้ตายวิ่งไล่ จำเลยที่ ๒ ย้อมกลับมาใช้อาวุธมีดของผู้ตาย แทงผู้ตายที่บริเวณหน้าท้อง แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกหลบหนีไป เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานทั้งสามของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่า ภายในร้านอาหารที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟนีออน ๒ หลอด และจากเครื่องรับโทรทัศน์มองเห็นได้ชัดในระยะ ๔ เมตร และที่หน้าร้านก็มีแสงสว่างจากหลอดไฟนีออนอีก ๑ หลอด พยานทั้งสามเห็นจำเลยที่ ๑ กับพวกมานั่งอยู่ในร้านอาหารก่อนเกิดเหตุเป็นเวลานานย่อมมีโอกาสที่จะจดจำจำเลยที่ ๑ ได้ และพยานทั้งสามไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๑ มาก่อน จึงเชื่อว่าพยานทั้งสามของโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตามความจริง จำเลยที่ ๑ นั่งอยู่โต๊ะเดียวกันกับจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ต่อสู้กับผู้ตาย จำเลยที่ ๑ ชักอาวุธมีดออกมาเข้าไปช่วยจำเลยที่ ๒ แม้นางสาวบุญจิราเข้าห้ามจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ สะบัดมือเข้าไปร่วมต่อสู้ด้วย เมื่อผู้ตายชักมีดออกมา จำเลยที่ ๑ ก็วิ่งออกจากร้านไปกับจำเลยที่ ๒ ครั้นเมื่อ ผู้ตายวิ่งตามไปแล้วล้มลง จำเลยที่ ๒ ย้อนกลับมาใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย จำเลยที่ ๑ ก็ยังคงอยู่ในที่นั้นด้วย จากนั้นก็หลบหนีไปกับจำเลยที่ ๒ แสดงว่า จำเลยที่ ๑ มีเจตนาที่จะร่วมใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้ตายมาแต่แรก แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย แต่จำเลยที่ ๑ ก็อยู่กับจำเลยที่ ๒ โดยตลอดอีกทั้งเข้าร่วมต่อสู้ด้วยและหลบหนีไปด้วยกัน เมื่อการตายของผู้ตายเกิดจากการที่จำเลยที่ ๒ ใช้อาวุธมีดแทงร่างกายบริเวณที่สำคัญ ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นตัวการร่วมในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นด้วย ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ไม่มีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเห็นและยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ แทงผู้ตายและไม่มีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมคนใดชี้ตัวจำเลยที่ ๑ ว่าใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายด้วยนั้น ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าผู้ตาย มีสาเหตุจากการทะเลาะวิวาทกันและผู้ตายก็มีอาวุธมีดต่อสู้ด้วย โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นหนักเกินไป สมควรลดลงให้เหมาะสมแก่รูปคดี แม้จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิพากษาไปถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ จำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ ๑๕ ปี ลดโทษให้จำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลงหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑๐ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑๐ ปี และปรับ ๑๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ จำคุก ๒๐ ปีและปรับ ๑๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘.
นายไพฤทธิ์ เศรษฐไกรกุล ผู้ช่วยฯ
นายชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ