คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 612/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดามารดาซึ่งนำสืบได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว ไม่ต้องรับผิดร่วมกับบุตรผู้เยาว์ที่ไปทำการละเมิด
บุตรผู้เยาว์ไปฉุดคร่าห์กักขังและข่มขืนกระทำชำเราหญิง เมื่อบิดามารดาใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้วไม่ต้องรับผิดร่วมกับบุตร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑-๒ ฉุดคร่าห์กักขังและข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ จำเลยที่ ๓-๔-๕ เป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๑-๒ ไม่ระมัดระวังจำเลยที่ ๑-๒ ผู้เยาว์ ขอให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยทุกคนปฏิเสธความรับผิด
“จำเลยที่ ๓-๔ ให้การว่า เป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๑ จริงจำเลยที่ ๕ รับว่าเป็นบิดาจำเลยที่ ๒ จริง แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดในฐานเป็นบิดามารดากับบุตร เพราะจำเลยที่ ๑ บรรลุนิติภาวะแล้วคือมีภริยาและบุตร ๑ คน หากการกระทำของจำเลยที่ ๑-๒ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว แม้จะเป็นผิดกฎหมายประการใดก็ตามจำเลยที่ ๓-๔-๕ เห็นว่าเป็นการนอกเหนือจากขอบเขตต์อำนาจที่จำเลยจะพึงระมัดระวังและดูแลตามหน้าที่อันควร หาใช่เป็นการที่ต้องใช้ความระมัดระวังอันควรแก่หน้าที่ไม่”
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ ๑-๒ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำละเมิดต่อโจทก์จริง จำเลยที่ ๓-๔-๕ มิได้ร่วมทำการละเมิดด้วยให้จำเลยที่ ๑-๒ ใช้ค่าสินไหมทดแทนโจทก์ จำเลยที่ ๓-๔-๕ ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ ๓-๔-๕ มิได้ต่อสู้ว่าคนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ ๑ มิใช่ผู้เยาว์ แต่ก็นำสืบข้อนี้ไม่ได้คดีไม่มีประเด็นให้จำเลยที่ ๓-๔-๕ พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๓-๔-๕ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑-๒ ด้วย
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การจำเลยที่ ๓-๔-๕ พอสรุปความได้ว่าจำเลยให้การว่า การกระทำของบุตรเหลือที่บิดามารดาจะระมัดระวังแล้วและเห็นว่าจำเลยที่ ๓-๔-๕ ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว จำเลยที่ ๓-๔-๕ ไม่ต้องรับผิดร่วมกับบุตรผู้เยาว์ที่ไปทำละเมิด

Share